ส่องผลกระทบไทยรับปธน.สหรัฐขึ้นภาษี 25% เหล็กยันอะลูมิเนียม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่าการขึ้น ภาษี นำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม ของสหรัฐฯ 25% ทุกประเทศ คาดว่าผลกระทบทางตรงต่อไทยในภาพรวมจำกัดเมื่อเทียบกับคู่ค้าหลักของสหรัฐฯ โดยผลิตภัณฑ์เหล็กและอะลูมิเนียมของไทยเสี่ยงกระทบมากกว่าเหล็ก เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสำคัญ

ขณะที่ ผลกระทบทางอ้อม ไทยเสี่ยงเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้นทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก โดยเฉพาะเหล็กและอะลูมิเนียมจากจีนที่จะเข้ามาตีตลาดอาเซียนมากขึ้น การทำธุรกิจของผู้ผลิตเหล็กและอะลูมิเนียมยังลำบากต่อเนื่อง ขณะที่ บางธุรกิจปลายน้ำ เช่น ก่อสร้าง ยานยนต์ และบรรจุภัณฑ์ อาจได้ผลดีจากทางเลือกในตลาดที่มีมากขึ้น

สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม เพราะต้องการลดการนำเข้า เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตในประเทศ หลังอัตราการใช้กำลังการผลิตลดต่ำกว่า 80% ปธน.ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม 25% ทุกประเทศ รวมถึงยกเลิกการยกเว้นภาษีนำเข้า และการให้โควตา มีผลตั้งแต่ 12 มี.ค. 2568 ซึ่งเป็นการปรับเงื่อนไขการเก็บภาษี “มาตรา 232” เพื่อความมั่นคงของประเทศ เมื่อปี 2561 ที่เคยขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมบางรายการ 25% และ 10% ตามลำดับ จากทุกประเทศ แต่ภายหลังมีการยกเว้น/ให้โควตาบางประเทศ ไม่ว่าจะเป็น แคนาดา เม็กซิโก เกาหลีใต้ สหภาพยุโรป อังกฤษ และญี่ปุ่น เป็นต้น การขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ทุกประเทศแบบไม่มีข้อยกเว้น เป็นผลจากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ มีการนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากทั่วโลกเพิ่มขึ้น จนกระทบผู้ผลิตในประเทศ สะท้อนจากการนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ โตเฉลี่ยปีละ 12% และ 10% (CAGR 2563-2567) ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตของผู้ผลิตในสหรัฐฯ ลดลงต่อเนื่องเฉลี่ยอยู่ที่ 70% และ 52% ตามลำดับการขึ้นภาษีนำเข้าในรอบนี้ ทำให้สหรัฐฯ มีความต้องการนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมลดลง และหันมาใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้น ผลกระทบส่วนใหญ่จึงน่าจะตกกับประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะแคนาดา เม็กซิโก และจีน ที่สหรัฐฯ นำเข้ารวมกันกว่า 48% ขณะที่ ไทยอาจได้รับผลกระทบไม่มาก เนื่องจากสหรัฐฯ นำเข้าเพียง 1.5%

นอกจากนี้ แคนาดาและเม็กซิโก เดิมทีได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม (มาตรา 232) ตั้งแต่ทรัมป์สมัยแรก และยังมีข้อตกลงการค้าเสรี USMCA ดังนั้น การปรับขึ้นภาษีนำเข้า 25% จะทำให้ราคาสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมในสหรัฐฯ จากประเทศเหล่านี้สูงขึ้นกว่าไทยและประเทศอื่นๆ แต่ทั้งนี้ ยังต้องติดตามรายละเอียดที่ชัดเจนอีกครั้ง ทั้งพิกัดสินค้า ประเทศที่สหรัฐฯ จะยกเว้น/บังคับใช้มาตราการ และท่าทีของประเทศต่างๆ เป็นต้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กและอะลูมิเนียมของไทยอาจได้รับผลกระทบทางตรงมากกว่าเหล็ก เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสำคัญการขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ กระทบไทยแตกต่างกันในแต่ละรายสินค้า โดยมีรายละเอียด ดังนี้
• เหล็ก ได้รับผลกระทบจำกัด เนื่องจากไทยส่งออกไปสหรัฐฯ เพียง 5% ของการส่งออกเหล็กทั้งหมด อีกทั้งสินค้าเหล็กส่วนใหญ่ของไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ เช่น เหล็กแผ่นรีดต่างๆ และเหล็กเส้น/ลวดเหล็ก ถูกเก็บภาษีนำเข้า 25% อยู่แล้วตั้งแต่ทรัมป์สมัยแรก จึงทำให้ผลกระทบรอบนี้ไม่มากเมื่อเทียบกับสินค้าอื่น
• ผลิตภัณฑ์เหล็ก ได้รับผลกระทบมากกว่าเหล็ก เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย หรือมีสัดส่วน 23% ของการส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กทั้งหมด รวมถึงสินค้าที่ไทยส่งออกไปมาก เช่น ท่อเหล็กและเหล็กสิ่งก่อสร้าง ยังไม่เคยถูกเก็บภาษีนำเข้า 25%  นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์เหล็กปลายน้ำอื่นๆ ที่สหรัฐฯ จะขยายขอบข่ายเพิ่มขึ้น
• อะลูมิเนียม ได้รับผลกระทบ เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทยหรือมีสัดส่วน 15% ของการส่งออกอะลูมิเนียมทั้งหมด โดยปัจจุบันไทยถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้า 10% และจะเพิ่มเป็น 25% ทำให้ราคาส่งออกอะลูมิเนียมของไทยแพงขึ้น ทั้งนี้ สินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มาก ได้แก่ ฟอยล์อะลูมิเนียม และอะลูมิเนียมแผ่นบาง  

ต้องติดตามผลกระทบทางอ้อมจากการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทั้งในประเทศและตลาดส่งออก ซึ่งจะส่งผลต่อภาคการผลิตของไทย เมื่อความต้องการนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมในสหรัฐฯ ลดลง ส่งผลให้ผู้ส่งออกต้องมองหาตลาดอื่นทดแทน ทำให้มีแนวโน้มที่เหล็กและอะลูมิเนียมนำเข้าจะเพิ่มขึ้นในไทยและตลาดอื่นๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะจากจีนที่ยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ รวมถึงบางส่วนที่จีนเคยส่งไปสหรัฐฯ ผ่านทางเม็กซิโกและบราซิลที่ต้องมองหาตลาดใหม่ อาเซียนเป็นตลาดส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียมที่สำคัญของจีน โดยมีส่วนแบ่งตลาด 23% และ 20% ตามลำดับ ซึ่งผลทางอ้อมจากการขึ้นภาษีนำเข้ารอบนี้ของสหรัฐฯ จะทำให้จีนเข้ามาลงทุนหรือส่งออกสินค้าเข้ามาในไทยและอาเซียนมากขึ้น เป็นแรงกดดันต่อภาคการผลิตของไทยที่อาจเสี่ยงสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกหลักอย่างกลุ่มประเทศ CLMV

ผู้ผลิตเหล็กและอะลูมิเนียมของไทย เสี่ยงแข่งขันลำบากต่อเนื่องกับสินค้านำเข้าที่อาจกระจายตลาดใหม่ทดแทนตลาดสหรัฐฯ  สะท้อนจากอัตราการใช้กำลังการผลิตของไทยมีแนวโน้มลดลงอีก โดยเฉพาะเหล็กที่ปัจจุบันเหลือเพียง 44% สวนทางกับสัดส่วนการใช้เหล็กนำเข้าที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ผลกระทบด้านราคา แม้ในระยะสั้นราคาเหล็กและอะลูมิเนียมจะเพิ่มขึ้นตามต้นทุนภาษี แต่หลังจากนี้ คาดว่าผลจากการแข่งขันกับสินค้านำเข้า จะทำให้ราคามีแนวโน้มลดลง

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ปี 2568 ราคาเหล็กและอะลูมิเนียมโดยเฉลี่ยของไทยอาจหดตัวจากปีก่อน 4% และ 3% ตามลำดับ แต่ทั้งนี้ ราคาในแต่ละผลิตภัณฑ์อาจขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความต้องการใช้ และปริมาณการผลิต รวมถึงราคาวัตถุดิบต้นน้ำ เป็นต้นอย่างไรก็ดี ธุรกิจปลายน้ำบางส่วน อาจได้อานิสงส์จากการมองหาตลาดใหม่ทดแทนตลาดสหรัฐฯ เช่น ก่อสร้าง ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงบรรจุภัณฑ์ ผลจากราคาที่มีแนวโน้มลดลงตามการแข่งขันและปริมาณสินค้าในตลาดที่เพิ่มขึ้น ทำให้ธุรกิจที่ใช้เหล็กและอะลูมิเนียมในสัดส่วนที่สูง มีทางเลือกในตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าคุณภาพสูงจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่เป็นตลาดนำเข้าหลักของไทย เช่น เหล็กแผ่นไร้สนิม เหล็กซิลิกอน เหล็กเพลากลม และอะลูมิเนียมเกรดพิเศษ เป็นต้น

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles