ส.อ.ท. ฝากการบ้าน “วิทัย” ผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ ทั้งเรื่องเร่งด่วนที่สุดและ เรื่องที่ต้องสานต่อ ชี้การครอบงำจากภาคการเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย 

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงมติที่ประชุมครม.แต่งตั้งนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)คนใหม่  มีผลวันที่ 1 ต.ค.นี้ ว่า นายวิทัย มีความเข้าใจสภาพเศรษฐกิจทั้งภาพใหญ่ และภาพย่อย  รวมทั้งมองเห็นภาพเรียล เซ็กเตอร์ เป็นอย่างดี  ด้วยสภาวะสภาพวิกฤติเศรษฐกิจ และ ความเสี่ยงสารพัดของประเทศไทย ที่ผ่านมา ผู้ว่า ธปท. มาหลากหลายสูตรทั้งจากแวดวงลูกหม้อ ธปท. ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ นักวิชาการแบบท่านปัจจุบัน ส่วนนายวิทัย น่าจะเป็นนักปฏิบัติ มากกว่านักทฤษฎีบนหอคอยงาข้าง เป็นนักประสานงาน รับฟัง เข้าใจ ทุกภาคส่วน เข้าใจโจทย์ จริง เช่น ภาษีทรัมป์ มากกว่า ยึดตำรา ทฤษฎี ใดๆ มากเกินไป

อย่างไรก็ตามข้อกังวลว่าจะมีการครอบงำจากภาคการเมืองนั้น มองว่าคงไม่ง่าย จากแบคกราวด์ที่ดี และด้วยการจับตามอง บทบาท และผลงานของ ธปท. จากทุกภาคส่วน ซึ่งก็ได้แต่หวังว่า ผู้บริหารทุกระดับ ใน ธปท. จะได้ให้ความร่วมมือกับนโยบายของรัฐบาล และนโยบายของผู้ว่าคนใหม่ โดยยึดประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้งมากกว่า ยึดติดกับกรอบการบริหารแบบเดิมๆ 

สำหรับการบ้านนโยบายการเงินใหญ่ 5 ข้อที่รอผู้ว่าการธปท.คนใหม่เข้ามาเร่งสานต่อและแก้ไข เรื่องเร่งด่วนที่สุด คือ

1.การดูแลส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสม และเป็นธรรม เนื่องจากปัจจุบันนี้อัตราส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้ และดอกเบี้ยเงินฝากต่างกันมาก

2.การแก้ปัญหาหนี้ของทั้งครัวเรือนและของภาคธุรกิจทั้งในระบบและนอกระบบ เพราะปัจจุบันนี้หนี้ครัวเป็นปีศาจร้าย ทำให้เศรษฐกิจไทย ต้องชะลอ ทำให้สถาบันการเงินไม่กล้าปล่อยกู้ เพื่อให้ประชาชน และภาคธุรกิจมีสายป่านในการดำเนินชีวิต และธุรกิจต่อ

3.ต้องการให้เข้ามาดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทให้เหมาะสม เนื่องจากการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอ่อนกว่าคู่แข่งในตลาดโลก และบางครั้งอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ทำให้กระทบต่อขีดความสามารถแข่งขันทางการค้าของไทย หากค่าเงินอยู่ในอัตราที่เหมาะสม  จะช่วยผลักดันภาคการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และยิ่งขณะนี้ยังมีความเสี่ยงจากอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐ ที่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า จะลดลงเท่าไร จากปัจจุบันสหรัฐประกาศให้ไทยอยู่ที่อัตรา 36% และจะสิ้นสุดการเจรจาวันที่ 1 ส.ค.นี้

4.การเดินหน้านโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย การดูแลเป้าหมายเงินเฟ้อ ให้สอดคล้องกับนโยบายการคลังของรัฐบาล ให้มีกระแสเงินไหลเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากภาคการผลิตหลักส่วนใหญ่ของประเทศ ต่างบอบช้ำตามภาวะเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจในประเทศ แต่สถาบันการเงิน กลับเติบโตสวนทาง

5.ขอให้มีทางเลือกใหม่ๆ ในตลาดการเงิน  เนื่องจากที่ผ่านมาเราพึ่งพิงแต่ธนาคารพาณิชย์มากเกินไปใช่หรือไม่ ซึ่งนับวันธนาคาร มีแต่จะโตวันโตคืน ขยายขอบเขตการบริการมากมาย

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles