หนี้ครัวเรือนไทยลงช้า SBC EIC ชี้แบงก์ไม่ลดเข้มงวดปล่อยสินเชื่อ ตั้งแต่โควิดถึงวันนี้หนี้เสียคนไทยมากกว่า 70% ยังไม่ฟื้นจ่ายคืนสม่ำเสมอ หนี้เสี่ยงจะเสียเกิน 70% เสี่ยงเป็นหนี้เสีย ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว แต่ไม่ถึง 9% กลับมาจ่ายคืนปกติ

หนี้ครัวเรือน ไทยลงช้า SBC EIC ชี้แบงก์ไม่ลดเข้มงวดปล่อยสินเชื่อ ตั้งแต่โควิดถึงวันนี้หนี้เสียคนไทยมากกว่า 70% ยังไม่ฟื้นจ่ายคืนสม่ำเสมอ หนี้เสี่ยงจะเสียเกิน 70% เสี่ยงเป็นหนี้เสีย ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว แต่ไม่ถึง 9% กลับมาจ่ายคืนปกติ

ศูนย์วิจัย SCB EIC ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาสำคัญที่อยู่คู่เศรษฐกิจไทยมานาน และถูกพูดถึงมากตั้งแต่เกิดโรคระบาด COVID-19 โดยเฉพาะแนวนโยบายช่วยเหลือลูกหนี้ ที่ผ่านมาแม้ว่าทุกภาคส่วนได้พยายามออกมาตรการแก้หนี้เพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหา แต่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ยังคงลดลงได้ช้าอยู่ในระดับสูงเกือบ 90% สะท้อนประสิทธิผลของแนวนโยบายที่อาจยังเพิ่มความครอบคลุมได้มากขึ้น ตามความต้องการที่แตกต่างกันของลูกหนี้เฉพาะกลุ่ม

แนวโน้มหนี้ครัวเรือนไทยนั้น สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ในไตรมาส 2/2024 แม้จะปรับลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี แต่กลับเป็นผลจากสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ลดลงมากเป็นสำคัญ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการปล่อยสินเชื่อใหม่ของสถาบันการเงินที่เข้มงวดขึ้น ตามความกังวลคุณภาพสินเชื่อและความสามารถในการชำระหนี้ที่ด้อยลง แม้จะมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดย SCB EIC ประเมินว่า ปัญหาคุณภาพสินเชื่อรายย่อยทั้งระบบที่แย่ลงและปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยมีแนวโน้มจะคลี่คลายได้ช้าในระยะข้างหน้า ท่ามกลางมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อรายย่อยของสถาบันการเงินที่คาดว่าจะยังมีทิศทางเข้มงวดต่อเนื่อง โดยพบสาเหตุข้อเท็จจริงผ่านการวิเคราะห์ฐานข้อมูลลูกหนี้รายย่อยของเครดิตบูโร ตลอดช่วงเวลาตั้งแต่เกิด COVID-19 จนถึงสิ้นปี 2023 ดังนี้

(1) ลูกหนี้บุคคล NPL มากกว่า 70% ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้อย่างสม่ำเสมอ

(2) ลูกหนี้บุคคล SM ราว 70-80% มีโอกาสจะกลายเป็น NPL โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการเกษตร สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้บัตรเครดิต และสินเชื่ออื่น

(3) แม้ลูกหนี้บุคคล NPL ส่วนหนึ่งได้รับความช่วยเหลือผ่านมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ไปบ้างแล้ว แต่สัดส่วนที่ลูกหนี้กลุ่มนี้กลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติยังค่อนข้างต่ำมาก ทั้งในกลุ่มเจ้าหนี้ Bank และ Non-Bank คิดเป็นเพียง 8.2% และ 6.4% ตามลำดับ

กลุ่มคนมีหนี้และรายได้น้อยยังมีปัญหาหลัก 3 ด้าน โดยแนวโน้มปัญหาหนี้ครัวเรือนที่น่าจะคลี่คลายได้ช้า สอดคล้องกับผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey 2024 ซึ่งพบว่า กลุ่มคนมีหนี้ที่รายได้น้อยยังมีปัญหาหลัก 3 ด้าน คือ

(1) มีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีปัญหาหนี้สินสะสม เนื่องจากค้างชำระหนี้บ่อยและจ่ายแค่ขั้นต่ำ โดยเฉพาะผู้มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท/เดือน ซึ่งพบว่าสัดส่วนมากกว่า 80% ที่มีปัญหารายได้ไม่พอจ่าย และมีพฤติกรรมจ่ายหนี้ไม่สม่ำเสมอ ในกลุ่มนี้ยังรวมถึงผู้ที่จ่ายชำระหนี้สม่ำเสมอแต่จ่ายได้แค่ขั้นต่ำด้วย

(2) มีปัญหาหนี้นอกระบบหรือหนี้ที่มีดอกเบี้ยผิดนัดแพง ส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมเลือกคืนหนี้ที่ค้างชำระนานสุดก่อน หรือหนี้ที่เจ้าหนี้ติดตามทวงถามมากสุดก่อน

(3) มีปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อมากกว่ากลุ่มอื่น พบว่ามากกว่า 60% ของคนมีหนี้รายได้น้อยที่มีปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อ และเกือบครึ่งหนึ่งไม่สามารถกู้เงินในระบบได้เลย คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐ หรือสถาบันการเงินได้ เพราะไม่เข้าเงื่อนไข

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles