นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถานการณ์หนี้เสียและหนี้กำลังจะเสียของบัตรเครดิตหลังมีการปรับขึ้นอัตราจ่ายชั้นต่ำบัตรเครดิตจาก 5% เป็น 8% ตั้งแต่ต้นปีนี้ มีดังนี้
ข้อมูลไตรมาสที่ 1/2567 เกี่ยวกับสินเชื่อบัตรเครดิตจากฐานข้อมูลสถิติที่ไม่มีตัวตนของเครดิตบูโรครับ ขอนำเรียนความห่วงใยดังนี้
1. ตั้งแต่ต้นปี 2567 การจ่ายชำระหนี้ขั้นต่ำของบัตรเครดิตจะต้องเริ่มต้นที่ 8% จากเดิมที่ผ่อนผันในช่วงการระบาด covid-19 ที่กำหนดไว้ 5%
2. มีคำถามมาตลอดว่าถ้ากติกาใหม่ออกมาจะทำให้หนี้เสียหรือ NPLsกระโดดมั้ย จะทำให้หนี้กำลังจะเสียหรือ SM กระโดดมั้ย
3. ตัวเลข ณ มีนาคม 2567 ยอดหนี้บัตรเครดิตทั้งหมด 24 ล้านใบ เป็นเงิน 5.5 แสนล้านบาทเติบโต 3.2% เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว ถ้าเทียบจากสิ้นปี 2566 หดตัว 5.1% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ อันนี้ก็พอทราบไม่มีอะไรแปลกใจ
4. ตัวเลขบช.สินเชื่อบัตรเครดิตที่เป็น NPLs ค้างเกิน 90 วันจะมีจำนวนประมาณ 1 ล้านบัตรเศษคิดเป็นยอดเงิน 6.4 หมื่นล้านบาทเติบโต 14.6% เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว อันนี้เริ่มไม่สบายใจแล้วครับ
5. พอมาดูยอดหนี้ที่เป็น SM หรือหนี้ที่กำลังจะเสียพบว่ามีจำนวนบัตรที่ชำระหนี้ได้แบบตะกุกตะกัก ติดๆขัดๆ 1.9แสนบัตรครับ จำนวนเงิน 1.2 หมื่นล้านบาทเติบโต 32.4% เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว มาถึงตรงนี้เริ่มตาโตแล้วครับว่า แค่สามเดือนแรกของการปรับเพิ่มยอดชำระขั้นต่ำทำไมมันเกิดการกะโดดใน SM ตามต่อไปดูว่าแล้วมันโตจากปลายปี 2566 เท่าใดก็พบว่าเติบโตถึง 20.6 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ต้องบอกว่าเป็นอะไรที่ต้องระวังว่ามันจะไหลเพิ่ม ไหลแรงกว่าเดิมหรือไม่ นอกจากปัญหาค่าครองชีพแล้ว รายได้ไม่ฟื้นตัว เปราะบางจนนุ่มนิ่ม มันสะท้อนแล้วว่าชำระหนี้สินเชื่อนี้ได้ลำบากมากขึ้น
ผมลองทำดูว่าจากบัตรเครดิตที่เป็น SM. จำนวนเกือบสองแสนใบนั้นเป็นบัตรที่เปิดมานานเท่าใดแล้ว พบว่า
เปิดมาไม่เกิน 2 ปี มีจำนวน 3.6 หมื่นบัตรครับ อยู่ในมือคน Gen Y 2.3 หมื่นบัตร
เปิดมามากกว่า 2 ปีแต่ไม่เกิน 4 ปี มีจำนวน 3.9 หมื่นบัตร อยู่ในมือ Gen Y 2.7 หมื่นบัตร Gen X 9.2พันบัตร
เปิดมามากกว่า 4 ปีแต่ไม่เกิน 6 ปี 4.5 หมื่นบัตร อยู่ในมือคน Gen Y 3 หมื่นบัตร Gen X 1.2 หมื่นบัตร
อันนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นในภาพด้านล่าง
คำถามตัวโตๆ คือ SM.จะไหลต่อเป็น NPLs. อีกเท่าใด การกำหนดให้ชำระหนี้ขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 8% และ 10% ตามลำดับ มันช่วยแก้ปัญหาหนี้ได้จริงๆ ใช่ไหมตามเป้าประสงค์มาตรการ ความจริงคนเรามีบัตรเครดิตได้หลายใบ การเพิ่มอีก 3% ของยอดหนี้ในแต่ละใบ คนไม่เคยเป็นหนี้อาจนึกไม่ออกว่าจะหมุนหาจากไหนไปจ่ายได้ และประการสุดท้ายค่าใช้จ่ายทั้งหลายมันเริ่มเพิ่มอย่างชัดเจนเช่น ไข่ไก่ ผักบางชนิด น้ำมันก็เริ่มขยับ เป็นต้น
การท่องตำราแก้ปัญหากับการท่องยุทธจักรแบบเดินเผชิญสืบ มันใช้ใจที่ต่างกัน ตัวอย่างเรื่องนี้คือหนังชีวิตจริง แต่ถ้ามองเป็นหนังอานิเมะ มันก็อาจผิดเพี้ยน ต้องกลับมาดูกันเพราะแค่ 3 เดือนกลิ่นมันแรงแบบโตขึ้น 32.4% เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว และ 20.6% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ มันไม่ธรรมดานะครับ
ตั้งโจทย์ผิด แต่ตอบโจทย์ที่ผิดได้ถูก ผลลัพธ์ผลผลิตมันจะผิดเพี้ยนไปหรือไม่
วันนี้ฝนตกแล้ว ฝนหลังฝุ่นที่ร้อนระอุย่อมสวยงามเสมอ
07.05.2567
ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศปรับเกณฑ์อัตราชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตจากในปี 2566 ที่ 5% เป็น 8% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป และจะขึ้นไปเป็นอัตราปกติที่ 10% ในปี 2568