นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย ยอมรับว่า การประกาศปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากไทยที่ 36% ของสหรัฐฯ ซึ่งจะเริ่มมีผลในวันที่ 9 เม.ย.นั้น ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ คือ ไม่เห็นความชัดเจนในเรื่องของอัตราภาษีที่สหรัฐฯ จะเรียกเก็บจากสินค้าไทย เพราะยังต้องมีขั้นตอนเจรจาต่อรองกันอีก ซึ่งทำให้ระหว่างนี้เกิดความไม่แน่นอนกับสินค้าที่เตรียมจะขนส่งทางเรือไปยังสหรัฐ, การกำหนดราคาซื้อขายล่วงหน้าที่ต้องคำนวณอัตราภาษีใหม่ ว่าใครจะเป็นผู้รับภาระภาษีนี้ ระหว่างบริษัทนำเข้าในสหรัฐฯ หรือบริษัทผู้ส่งออกของไทย รวมทั้งการบริหารสต็อกสินค้า และคำสั่งซื้อใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาในอนาคต
“ถ้าผู้นำเข้า จะบอกให้ภาระภาษีอยู่ที่ประเทศไทย หรือผู้ส่งออก ก็จะทำให้ราคาไม่สามารถขายได้ เพราะโดนภาษีสูงเหลือเกิน แต่ถ้าเป็นภาระของผู้นำเข้า ก็โอเค ผู้นำเข้าก็ไปบวกราคาเพิ่มเข้าไป แล้วค่อยไปขาย แต่ก็จะมีปัญหาตามมา คือทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นอีกเยอะ ตลอดห่วงโซ่ในสหรัฐ ซึ่งจะกระทบต่อผู้บริโภคว่าจะมีกำลังซื้อหรือไม่ นี่คือคำถามใหญ่ ที่กระทบให้ order สินค้าลดลง จากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง นี่คือผลกระทบในแง่ของภาคธุรกิจที่จะเกิดขึ้น”
แม้มูลค่าความเสียหายในขณะนี้ยังจะไม่สามารถคำนวณออกมาได้ แต่การเสียโอกาสย่อมมีมากแน่ ซึ่งหากการเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะทำได้เร็ว ผลกระทบที่จะมีต่อการส่งออกของไทยในเดือนเม.ย. หรือ พ.ค.นี้ก็อาจจะไม่มากนัก แต่หากยังไม่สามารถเจรจากันได้ เชื่อว่าการส่งออกของไทยตั้งแต่เดือนมิ.ย.เป็นต้นไปน่าจะมีปัญหาใหญ่แน่ เพราะไม่สามารถส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายในสหรัฐฯ ได้
“ความเสียหายตอนนี้ยังไม่เห็น แต่เสียโอกาสเยอะแน่ เพราะตอนนี้สินค้าที่จะลงเรือ ก็อิหลักอิเหลื่อ จะขายใหม่ ก็ไม่รู้จะซื้อขายกันอย่างไร นี่คือการเสียโอกาส ดังนั้นความน่าเป็นห่วง คือ ถ้าสหรัฐต่อเวลาให้ถึงเดือน 7 หรือจนกว่าจะเจรจากันจบ ก็อาจมีผลกระทบต่อการส่งออกในเดือนเม.ย. พ.ค.ไม่มากนัก แต่ถ้าเคลียร์ไม่จบ เดือนมิ.ย.นี้เรื่องใหญ่แน่ เพราะจะส่งไปขายสหรัฐฯไม่ได้”
อย่างไรก็ตาม หากจะให้มองผลกระทบจากมาตรการภาษีของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในรอบนี้ จากข้อมูลเท่าที่มีอยู่ล่าสุดในปัจจุบัน เชื่อว่า การส่งออกของไทยเสียหายหนักแน่ เพราะไม่ใช่แค่เพียงที่ไทยส่งออกไปสหรัฐไม่ได้ แต่ไทยจะส่งไปประเทศอื่นได้ยากลำบากเช่นกัน เนื่องจากประเทศอื่นก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกับไทยที่ถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษี ซึ่งสร้างผลกระทบในระดับโลก โดยการเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ นั้น ควรอยู่ภายใต้หลักการที่เป็น fair balance ให้เขามีความพึงพอใจ ในขณะที่ไทยเองก็ไม่เสียหายมาก แต่ยอมรับว่าทุกการเจรจาย่อมมีคนได้ และคนเสีย ซึ่งหากไทยเอง ถ้าอยากจะได้บางอย่าง ก็อาจต้องเสียบางอย่าง และในสิ่งที่เสียไปนั้น ก็เป็นหน้าที่ที่รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยชดเชยให้
สำหรับ 5 แนวทางที่ไทยจะดำเนินการ ซึ่งนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้แถลงไปเมื่อวานนั้น นายพจน์ มองว่า ภาคเอกชนมีความพอใจ เพราะส่วนใหญ่เป็นแนวทางที่หอการค้าไทย ได้เคยนำเสนอไว้กับทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เดือนก.พ.-มี.ค. และเชื่อว่ามาถูกทางแล้ว
ส่วนการตั้งคณะกรรมการใน 4 ระดับเพื่อมาดูแลเรื่องการเจรจากับสหรัฐฯ นั้น นายพจน์ มองว่า การแก้ปัญหาในรอบนี้ควรมีทีมเดียว โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้สามารถใช้อำนาจสูงสุดในการตัดสินใจได้ โดยมีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง พร้อมภาคเอกชนเข้าร่วมด้วย ส่วนทีมเจรจา ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะแต่งตั้งใคร และหากต้องการให้เอกชนร่วมด้วย ก็ยินดี ต้องยอมรับว่า ผลกระทบจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ในรอบนี้เรียกได้ว่าเป็นวิกฤติระดับโลก เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ Demand Chain และ Supply Chain เพี้ยนไปหมดทั่วโลก สินค้าจากที่บางประเทศเคยขายได้ เมื่อขายไม่ได้ก็จะทะลักเข้ามาในเอเชีย ดังนั้น ภาคเอกชนจึงอยากเสนอให้รัฐบาลตั้งทีมงานพิเศษขึ้น ไม่ใช่เฉพาะทีมแก้ปัญหากรณีภาษีของสหรัฐฯเท่านั้น แต่ต้องเป็นทีมที่ภาครัฐและเอกชนมานั่งคุยแล้วมองภาพรวม