นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าหอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากผลกระทบจาก น้ำท่วม จังหวัดเชียงใหม่ คาดว่าจะอยู่ที่ 2,960 ล้านบาท คิดเป็น 0.02% ของจีดีพี หากน้ำท่วมไม่เกิน 7 วัน ขณะเดียวกันหากน้ำท่วมยืดเยื้อเกิน 15 วัน ความเสียหายทางเศรษฐกิจจะพุ่งเป็น 4,232 ล้านบาท หรือเพิ่มกว่า 40% จากประมาณการเดิม โดยประเมินจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมรวม 220,469 ไร่ เป็นพื้นที่การเกษตร 77,164 ไร่ พื้นที่อื่นๆ 143,305 ไร่ ครอบคลุม 10 อำเภอใน จ.เชียงใหม่ ได้แก่ อ.เชียงดาว แม่แตง แม่ริม เมืองเชียงใหม่ สารภี หางดง สันป่าตอง ดอยหล่อ จอมทอง และ อ.ฮอด โดยอำเภอเมืองเชียงใหม่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และหากแยกภาคเศรษฐกิจ ภาคการเกษตรเสียหายมากสุดรวม 1,846 ล้านบาท หรือสัดส่วน 62.4% ของความเสียหายทั้งหมด รองลงมา ภาคบริการ เสียหาย 1,098 ล้านบาท และภาคอุตสาหกรรม เสียหาย 15 ล้านบาท
ส่วนผลกระทบต่อพื้นที่ท่องเที่ยวนั้น นายสนั่นระบุว่า เนื่องด้วยจังหวัดเชียงใหม่ กำลังเข้าช่วงไฮซีซั่น ภาพน้ำท่วมรุนแรงอาจกระทบต่อรายได้จากการท่องเที่ยว เพราะสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่งได้รับผลกระทบ เช่น บริเวณถนนท่าแพ เส้นทางการคมนาคมบางจุดถูกตัดขาด หรือมีความเสียหาย อาจสร้างความยากลำบากในการเดินทาง คาดมีผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกังวลจนเลื่อน หรือยกเลิกการเดินทาง ดังนั้น เมื่อน้ำลดกลับเข้าสู่ภาวะปกติ รัฐบาลต้องเร่งฟื้นฟูพื้นที่ย่านการค้า แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ให้ทันก่อนเข้าไฮซีซั่น ซึ่งขณะนี้หอการค้าไทยร่วมกับ พณ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดสินค้าราคาประหยัดไปจำหน่าย เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในพื้นที่ ร่วมกับหอการค้าในพื้นที่ และ ททท.ช่วยประชาสัมพันธ์ และเร่งโปรโมตท่องเที่ยวภาคเหนือ
หอการค้าภาคเหนือ ได้เสนอแผนฟื้นฟู เยียวยา และแผนการจัดการน้ำ ผ่านหอการค้าไทย โดยในระยะสั้น ขอให้ตรวจสอบระบบน้ำประปาให้ใช้งานได้ตามปกติ และสำรองน้ำประปาให้เพียงพอต่อการฟื้นฟูหลังน้ำลด รวมทั้งให้ความเท่าเทียมในการช่วยเหลือเยียวยาในช่องทางเดียวให้เบ็ดเสร็จลดความซ้ำซ้อน ทำแผน และงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่น ทั้งการลดค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้า มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ปลอดอัตราดอกเบี้ย และปลอดระยะเวลาชำระ 1 ปี และการจัดสรรพื้นที่ทำกินใหม่ เป็นต้น รวมถึงวางแผนการบริหารจัดการกับปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งในระยะยาว เพราะเริ่มเกิดขึ้นถี่ และขยายวงกว้างมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลต้องใช้งบประมาณในการบรรเทาความเสียหาย และเยียวยาประชาชนกว่าปีละแสนล้านบาท
ทั้งนี้ จะมีการะเสนอผ่านสมุดปกขาว ให้รัฐบาลรื้อฟื้นแผนการวางระบบบริหารจัดการน้ำในอดีตที่รัฐบาลเคยนำเสนอไว้ และเร่งผลักดันโครงการที่ดำเนินการได้ก่อนผ่านงบปี 2568 เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้ภาคธุรกิจ และประชาชนในพื้นที่ได้ทันท่วงที ส่วนระยะกลางและยาว เสนอให้รัฐบาลจัดเตรียมแผนบริหารจัดการน้ำให้เกิดการบูรณาการมากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนา ปรับปรุง และซ่อมแซมแหล่งน้ำขนาดย่อมในแต่ละชุมชน ให้เป็นแหล่งกักเก็บสำหรับภาคการเกษตร และการอุปโภคบริโภคในแต่ละพื้นที่อย่างทั่วถึงตลอดทั้งปี เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน