ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ดัชนีหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบเกือบตลอดสัปดาห์ โดยในช่วงแรกตลาดหุ้นมีแรงหนุนจากรายงานข่าวที่ว่าสหรัฐฯ อาจบังคับใช้มาตรการภาษีตอบโต้แบบเจาะจง ซึ่งช่วยคลายความกังวลบางส่วนต่อประเด็นสงครามการค้า ประกอบกับมีแรงซื้อหุ้นรายตัวเข้ามาหนุน โดยเฉพาะหุ้นบริษัทด้านพลังงานรายใหญ่แห่งหนึ่งและบริษัทค้าปลีกรายใหญ่แห่งหนึ่งที่ประกาศแผนซื้อคืนหุ้น รวมถึงหุ้นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่ง แต่กรอบการปรับขึ้นค่อนข้างจำกัด เนื่องจากนักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของประเด็นสงครามการค้า
อย่างไรก็ดี หลังปธน. สหรัฐฯ ประกาศเดินหน้าเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ในอัตรา 25% โดยมีผลบังใช้ในวันที่ 2 เม.ย. นี้ ก็ส่งผลให้ตลาดกลับมากังวลว่าสงครามการค้าจะทวีความรุนแรงมากขึ้นและเกิดแรงเทขายเพื่อลดความเสี่ยง ทั้งนี้ปริมาณการซื้อขายในสัปดาห์นี้ค่อนข้างเบาบาง โดยเฉพาะวันศุกร์ ซึ่งเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ประกาศปิดการซื้อขายในช่วงบ่าย อนึ่ง สัปดาห์นี้หุ้นแบงก์ปรับตัวได้ต่อเนื่องสวนทางกับภาพรวมตลาด เนื่องจากมีแรงหนุนจากแรงซื้อก่อนจ่ายปันผลและประกาศงบไตรมาส 1/2568
ในวันศุกร์ที่ 28 มี.ค. 2568 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,175.45 จุด ลดลง 0.94% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 25,147.89 ล้านบาท ลดลง 40.04% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 1.49% มาปิดที่ระดับ 242.90 จุด
ส่วนสัปดาห์นี้ (31 มี.ค. – 4 เม.ย. 68) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,165 และ 1,155 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,185 และ 1,200 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมี.ค. ของไทย ประเด็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิตและการบริการ ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงานเดือนมี.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการเดือนมี.ค. ของญี่ปุ่น จีน ยูโรโซน ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมี.ค. (เบื้องต้น) และดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.พ. ของยูโรโซน ตลอดจนผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ. ของญี่ปุ่น