ดัชนี SET Index ตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 1,298.86 จุด ปรับลง 4.96จุด หรือ -0.38% มูลค่าการซื้อขาย 3,327.15 ล้านบาท ช่วงเปิดตลาดเช้านี้
นายชาญชัย พันทาธนากิจ ผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดดัชนีแกว่งไซด์เวย์ประคองฐาน ไร้ปัจจัยใหม่มีผลต่อดัชนีโดยเมื่อคืนนี้ตลาดหุ้นสหรัฐ ปิดทำการ ขณะที่ในประเทศรอติดตามการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ในวันที่ 19-21 มิ.ย. ซึ่งพรุ่งนี้จะมีการลงมติ โดยเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
ขณะที่ภาพรวมตลาดหุ้นไทยอยู่ในช่วงของการเรียกความเชื่อมั่น โดยในระยะถัดไปน่าจะค่อย ๆ ดีขึ้น เนื่องจากประเด็นการเมืองที่น่าจะผ่านจุดที่หนักที่สุดไปแล้ว และตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมาตรการต่าง ๆ ออกมา ซึ่งมองว่าในระยะถัดไปน่าจะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นได้ เช่น การประกาศคุณสมบัติหุ้นที่สามารถ Short Sell ได้ และมาตรการ Uptick รวมทั้งการรื้อฟื้นกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ซึ่งหากมีความชัดเจนน่าจะเป็นปัจจัยหนุนดาวน์ไซด์ของตลาดได้ โดยคาดว่าภาพระยะสั้นดัชนีน่าจะแกว่งผันผวนสร้างฐาน โดยให้กรอบแนวรับ 1,290 จุด และแนวต้าน 1,310 จุด
ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี รายงานแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ว่า คาดดัชนี SET รีบาวนด์แนวต้าน 1,310 จุด และ 1,315 จุด ส่วนแนวรับ 1,295 จุด และ 1,290 จุด โดย SET Index ที่วานนี้มีสัญญาณฟื้นตัวทางเทคนิค จึงมองหุ้นที่มีโอกาสรีบาวนด์แรงจะอยู่ในกลุ่มที่ยังปรับลงลึกกว่าดัชนีในช่วงเดียวกัน และกลุ่มมียอด Short ที่ยังปิดไม่สถานะสูง ซึ่งมีโอกาสเห็นภาพเร่งสถานะ
ส่วนในต่างประเทศ วานนี้ตลาดหุ้นสหรัฐปิดทำการเนื่องจากวัน Juneteenth และเงินเฟ้อ CPI เดือน พ.ค. 2567 ของอังกฤษ ปรับลงสู่เป้าหมายของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ที่ 2% แล้ว ทำให้ตลาดคาด BOE จะลดดอกเบี้ยในเดือน ส.ค. 2567 และจะเป็นชาติที่ 3 ต่อจากแคนาดา และกลุ่มยูโรโซน บ่งชี้วงจรดอกเบี้ย G7 เข้าสู่ขาลงครึ่งหลังของปี 2567 เป็นแรงขับเคลื่อนสินทรัพย์เสี่ยงได้ต่อ ขณะเดียวกัน ทิศทางฟันด์โฟลว์พบว่านักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยต่อเป็นวันที่ 20 แต่เริ่มเห็นการกลับมาซื้อพันธบัตรหลักพันล้านบาทครั้งแรกใน 11 วันทำการ ถ่วงบอนด์ยีลด์ไทยรุ่นอายุ 10 ปี ปรับตัวลงสู่ 2.74% (จุดสูงสุดปลายเดือน พ.ค. ที่ 2.86%) หนุน Current และ Forward Equity Risk Premium (ERP) ปัจจุบันสูง 3.6% และ 4.2% จุดกลับตัวส่วนใหญ่กรณีไม่มีวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้แรงขายนักลงทุนต่างชาติมีโอกาสชะลอลง
ผสานจิตวิทยาบวก ที่นายกรัฐมนตรีแถลง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.8% แต่สิ่งที่ตลาดให้ความสนใจคือการตั้งงบรายจ่ายลงทุนสูงถึง 9.02 แสนล้านบาท มากที่สุดในรอบ 17 ปี มองบวกต่อลงทุนของภาครัฐ