นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม Asia Initiative ภายใต้ Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes ครั้งที่ 10 ณ เกาะมาเลเหนือ สาธารณรัฐมัลดีฟส์ ระหว่างวันที่ 26 – 28 พฤษภาคม 2568 เพื่อหารือ และแลกเปลี่ยนแนวทางการส่งเสริมความโปร่งใสทางภาษีและการยกระดับการแลกเปลี่ยนข้อมูลในทวีปเอเชีย ซึ่งในที่ประชุมได้มีการเผยแพร่รายงาน Tax Transparency in Asia 2025 : Asia Initiative Progress Report ซึ่งสะท้อนความก้าวหน้าของประเทศสมาชิก 17 ประเทศ รวมถึงไทยในการดำเนินการตามมาตรฐานระหว่างประเทศด้านความโปร่งใสทางภาษี โดยเพิ่มประสิทธิภาพและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลตามคำร้องขอ (Exchange of Information on Request : EOIR) และการแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยอัตโนมัติ (Automatic Exchange of Information : AEOI) อันส่งผลให้ประเทศไทยได้รับข้อมูลจากต่างประเทศจำนวนมาก และสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการบริหารการจัดเก็บภาษี
รายงานนี้ระบุว่า กรมสรรพากรตระหนักถึงความสำคัญของความโปร่งใสในภาคการเงินเกิดใหม่ ดังนั้น นอกจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินตาม Common Reporting Standards (CRS) กรมสรรพากรจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกรรมทางสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย โดยจะเริ่มดำเนินการตาม Crypto – Asset Reporting Framework (CARF) ภายในปี 2571 นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ด้วยการเข้าร่วมความพยายามระดับโลกที่จะปิดช่องว่างของความโปร่งใส ประเทศไทยมุ่งทำให้การบริหารการจัดเก็บภาษีมีเครื่องมือจัดการความท้าทายใหม่ ๆ และสนับสนุนบูรณภาพของระบบภาษี”
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือแนวทางการดำเนินงานปี 2568 – 2569 ซึ่งจะเน้นการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศสมาชิก การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานจัดเก็บภาษี และการใช้ข้อมูลที่ได้รับในการบริหารการจัดเก็บภาษี ในโอกาสเดียวกันนี้ คณะผู้แทนไทยได้เข้าร่วมการเสวนาเรื่อง “The Use of CRS Data” เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการใช้ข้อมูลตาม CRS โดยเฉพาะ การวิเคราะห์ความเสี่ยง การใช้เทคโนโลยีประมวลผลข้อมูล และการสนับสนุนหน่วยงานตรวจสอบภาษี ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้นำเสนอการพัฒนาระบบจับคู่ข้อมูล (Data Matching) ระหว่างข้อมูลที่ได้รับจากต่างประเทศกับข้อมูลในฐานข้อมูล ซึ่งจากผลการวิเคราะห์เบื้องต้น พบว่าสามารถจับคู่ข้อมูลได้กว่า ร้อยละ 54 และสำหรับข้อมูลจากประเทศที่มีคุณภาพของข้อมูลสูงสามารถจับคู่ได้ถึงร้อยละ 80 อันแสดงศักยภาพของข้อมูลที่ได้รับและความพร้อมในการนำข้อมูลไปใช้ยกระดับการจัดเก็บภาษี และการตรวจสอบภาษีเชิงลึกต่อไป