อสังหาฯ แบกสต๊อกพุ่ง 1.3 ล้านล้าน ทำเลกรุงเทพ-ปริมณฑลอ่วมทะลุ 246,280 หน่วย

อสังหาริมทรัพย์ แบกสต๊อกพุ่ง 1.3 ล้านล้าน ทำเลกรุงเทพ-ปริมณฑลอ่วมทะลุ 246,280 หน่วย

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่าผลจากการสำรวจภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยทั้งโครงการแนวราบและอาคารชุดในกรุงเทพฯและ 5 จังหวัดปริมณฑล ในไตรมาส 1 ปี 2567 พบว่าหลังจากที่ได้ผ่านไตรมาส 1 ตัวเลขภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศและเครื่องชี้ภาวะอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นไปในทิศทางชะลอตัวลง คาดว่าภาพรวมทั้งปี 2567 จะมีที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่เข้ามาสู่ตลาด 103,930 หน่วย มูลค่ารวม 637,906 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0และร้อยละ 7.0 ตามลำดับ ซึ่งแบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร จำนวน 51,369 หน่วย มูลค่า 420,635 ล้านบาทและโครงการอาคารชุด จำนวน 52,561 หน่วย มูลค่า 217,271 ล้านบาท

ด้านยอดขายได้ใหม่คาดว่าจะมีจำนวน 67,696 หน่วย มูลค่า 342,299 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 8.4และร้อยละ 1.2 ตามลำดับ แบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร 37,883 หน่วย มูลค่า 238,919 ล้านบาท และโครงการอาคารชุด 29,813 หน่วย มูลค่า 103,380 ล้านบาท โดยอัตราดูดซับโดยรวมของตลาดจะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.8 ทั้งประเภทโครงการบ้านจัดสรรและอาคารชุด

ส่งผลให้ที่อยู่อาศัยเหลือขายมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 246,280 หน่วย มูลค่า 1,393,395 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 และร้อยละ 18.6 ตามลำดับ ซึ่งแบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร 139,984 หน่วย มูลค่าโครงการ 914,136 ล้านบาท และโครงการอาคารชุด 106,296 หน่วย มูลค่าโครงการ 479,259 ล้านบาท

สำหรับสถานการณ์ตลาดบ้านแนวราบในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในไตรมาส 1 ปี 2567 มีหน่วยเสนอขายทั้งสิ้น 137,483 หน่วย มูลค่า 910,268 ล้านบาท จำนวนหน่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 ขณะที่มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนยอดขายได้ใหม่มีจำนวน 9,679 หน่วย มูลค่า 62,863 ล้านบาท โดยลดลงร้อยละ 16.1และร้อยละ 9.3

โดย 5 ทำเลที่มีหน่วยขายได้ใหม่สูงสุด
อันดับ 1 โซน-บางพลี-บางบ่อบางเสาธง จำนวน 2,161 หน่วย มูลค่า 14,411 ล้านบาท
อันดับ 2 โซนเมืองสมุทรปราการ-พระประแดง-พระสมุทรเจดีย์ จำนวน 1,295 หน่วย มูลค่า 5,703 ล้านบาท
อันดับ 3 โซนบางใหญ่-บางบัวทอง-บางกรวย-ไทรน้อย จำนวน 1,210 หน่วย มูลค่า 6,558 ล้านบาท

ผลจากการสำรวจภาคสนามยังได้แสดงทำเลสำหรับบ้านแนวราบที่ต้องระมัดระวัง เนื่องจากยังคงมีหน่วยเหลือขายที่มากติดอันดับต้น ๆ แม้ว่าบางพื้นที่จะมียอดขายและอัตราการดูดซับที่ดี ได้แก่
อันดับ 1 โซนบางใหญ่-บางบัวทอง-บางกรวย-ไทรน้อย จำนวน 20,214 หน่วย มูลค่า 110,177 ล้านบาท
อันดับ 2 โซนลำลูกกา-ธัญบุรี จำนวน 16,109 หน่วย มูลค่า 93,280 ล้านบาท
อันดับ 3 โซนคลองหลวง จำนวน 14,478 หน่วย มูลค่า 56,803 ล้านบาท

ด้านตลาดอาคารชุดในไตรมาส 1 มีหน่วยเสนอขาย 91,565 หน่วย มูลค่า 397,717 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.9 และร้อยละ 25.9 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับยอดขายได้ใหม่มีจำนวน 5,940 หน่วย มูลค่า 27,207ล้านบาท ลดลงร้อยละ 39.0 และร้อยละ 24.5 ตามลำดับ

โดย 5 ทำเลที่มีขายได้ใหม่สูงสุด ประกอบด้วย อันดับ 1 โซนคลองหลวง จำนวน 1,057 หน่วย มูลค่า 1,794 ล้านบาท อันดับ 2 โซนพระโขนง-บางนา-สวนหลวง-ประเวศจำนวน 487 หน่วย มูลค่า 1,472 ล้านบาท อันดับ 3 โซนธนบุรี-คลองสาน-บางกอกน้อย-บางกอกใหญ่-บางพลัด จำนวน 441 หน่วย มูลค่า 1,861 ล้านบาท

ทั้งนี้ ทำเลที่มีหน่วยเหลือขายมาก ต้องระมัดระวัง แม้ว่าบางพื้นที่จะมียอดขายและอัตราการดูดซับที่ดี ได้แก่ อันดับ1 โซนห้วยขวาง-จตุจักร-ดินแดง จำนวน 10,588 หน่วย มูลค่า 43,059 ล้านบาท อันดับ 2โซนธนบุรี-คลองสาน-บางกอกน้อย-บางกอกใหญ่-บางพลัด จำนวน 9,469 หน่วย มูลค่า 31,397 ล้านบาท อันดับ 3 โซนพระโขนง-บางนา-สวนหลวง-ประเวศจำนวน 8,251 หน่วย มูลค่า 27,299 ล้านบาท

จากผลสำรวจข้อมูลแสดงให้เห็นว่าภาพรวมไตรมาส 1 ปี 2567 ตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลยังขับเคลื่อนตัวด้วยโครงการบ้านแนวราบกว่าอาคารชุด แต่อย่างไรก็ตาม ควรเฝ้าระวังสต๊อกคงเหลือและอัตราการดูดซับที่ต่ำลงในหลายพื้นที่ซึ่งต้องมีการประเมินความเสี่ยงในการลงทุนในอนาคต โดยเฉพาะทำเลที่มีอัตราการดูดซับลดลง

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles