อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส เปิดตัวแพลตฟอร์ม Generative AI แห่งแรกในวงการการศึกษา เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการเรียนรู้ ในไทย 

อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (Amazon Web Services: AWS) บริษัทในเครือ Amazon.com ประกาศความสำเร็จของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) สถาบันการศึกษาและวิจัยชั้นนำของประเทศไทย ในการพัฒนา ChatGen  และ Matthew แพลตฟอร์ม Generative AI แห่งแรกในวงการการศึกษาบนระบบคลาวด์ชั้นนำระดับโลก Matthew มอบความสามารถด้าน Generative AI ให้แก่บุคลากรและนักศึกษากว่า 52,000 คน โดยสามารถใช้งานฟีเจอร์ต่าง ๆ ได้อย่างครบครัน ทั้งการตอบคำถามพร้อมการอ้างอิง การสรุปเนื้อหา การวิเคราะห์ข้อมูลและรูปภาพ การสร้างเอกสาร ตลอดจนการแปลภาษา โครงการนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการมุ่งสู่การเป็น “มหาวิทยาลัย AI” ด้วยการนำเทคโนโลยี AI ขั้นสูงมาประยุกต์ใช้ เพื่อยกระดับการเรียนการสอน การวิจัย และการดำเนินงานในทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัย

การผลักดันให้เกิดการเข้าถึง AI อย่างทั่วถึงครั้งนี้ สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า ร้อยละ 86 ของนักศึกษายอมรับว่าใช้ AI ในการเรียน โดยร้อยละ 54 ของนักศึกษาใช้งาน AI เป็นประจำทุกสัปดาห์ ด้วยเหตุนี้ มช. จึงเล็งเห็นความสำคัญในการกำหนดแนวทางการใช้งานที่ได้มาตรฐานและมีจริยธรรม เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาใช้เทคโนโลยี AI อย่างเหมาะสม พร้อมทั้งสร้างโอกาสการเข้าถึงอย่างเท่าเทียม โดยเปิดให้ทุกคนสามารถใช้เครื่องมือ AI และ Generative AI ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

การประยุกต์ใช้บริการ AI จาก AWS เพื่อความเป็นเลิศทางการศึกษา

 มช. มุ่งพัฒนาระบบผู้ช่วยอัจฉริยะ (Generative AI Assistant) เพื่อสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรมสำหรับบุคลากรและนักศึกษา โดยได้เลือกใช้แพลตฟอร์มที่มีความยืดหยุ่นและขยายขนาดได้ตามความต้องการ พร้อมทั้งรวมเทคโนโลยีโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model: LLM) เทคโนโลยี และบริการล่าสุดเข้าไว้ด้วยกัน นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยยังได้นำเทคโนโลยี RAG (Retrieval-Augmented Generation) ที่ขับเคลื่อนโดย AWS มาใช้งาน โดยเทคโนโลยีนี้ผสานการทำงานของโมเดล AI หลากหลายรูปแบบ เพื่อสร้างคำตอบที่สอดคล้องกับบริบทโดยอ้างอิงจากฐานข้อมูลและเอกสารของมหาวิทยาลัย

ChatGen ได้ผสานการทำงานร่วมกับ Amazon Nova เพื่อรองรับฟังก์ชันการสนทนาอัจฉริยะและระบบให้คำแนะนำอัตโนมัติ เช่น การแนะนำวิชาเรียนที่เหมาะสมสำหรับการลงทะเบียน ระบบนี้สามารถเชื่อมต่อกับโมเดล AI พื้นฐานได้หลากหลายผ่าน Amazon Bedrock ไม่ว่าจะเป็น Claude, Llama หรือ Mistral นอกจากนี้ แพลตฟอร์มยังถูกออกแบบให้ทำงานร่วมกับระบบต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยได้อย่างไร้รอยต่อ โดยเฉพาะการเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลหลักผ่านแพลตฟอร์มการเชื่อมต่อแบบหลากหลาย (Multi Connectivity Platform: MCP) ทั้งนี้ ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงระบบได้ง่าย ๆ ด้วยบัญชี CMU IT ที่มีอยู่ และใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านเว็บเบราว์เซอร์บนอุปกรณ์ทุกประเภท

ยกตัวอย่างเช่น มช. ได้พัฒนาระบบ Student Compass AI โดยใช้เทคโนโลยี ChatGen เพื่อเป็นผู้ช่วยอัจฉริยะในการวางแผนการศึกษาให้สอดคล้องกับเส้นทางอาชีพของนักศึกษา ระบบนี้ไม่เพียงแต่ให้คำแนะนำในการเลือกรายวิชา การจัดตารางเรียน และการติดตามความก้าวหน้าของหลักสูตรเท่านั้น แต่ยังช่วยวิเคราะห์และวางแผนเส้นทางอาชีพผ่านการประเมินทักษะที่จำเป็น การวิเคราะห์แนวโน้มอุตสาหกรรม และการแนะนำโอกาสที่เหมาะสม ด้วยความสามารถของระบบ นักศึกษาสามารถออกแบบแผนการเรียนรู้เฉพาะบุคคลได้อย่างครบวงจร ทั้งการกำหนดเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว การวางแผนการฝึกงาน การพัฒนากลยุทธ์การสร้างเครือข่ายวิชาชีพ ตลอดจนการเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน Student Compass ยังช่วยจัดการเวลาและติดตามพัฒนาการของนักศึกษา โดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างความสำเร็จทางการศึกษาในปัจจุบันและเป้าหมายทางอาชีพในอนาคต ทำให้นักศึกษาสามารถตัดสินใจวางแผนอนาคตได้อย่างชาญฉลาดและมั่นใจ ทั้งนี้ มช. ยังได้นำ ChatGen ไปประยุกต์ใช้ในด้านอื่น ๆ อีกด้วย เช่น การสรุปรายงานการประชุม การประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากร และระบบตอบคำถามอัตโนมัติเกี่ยวกับนโยบายต่าง ๆ ขององค์กร โดยทั้งหมดนี้ได้รับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีจาก AWS ที่มอบทั้งความปลอดภัยและความยืดหยุ่นในการใช้งาน AI อย่างมีประสิทธิภาพ

ChatGen เป็นเพียงส่วนหนึ่งในระบบนิเวศทางเทคโนโลยี AI ที่ มช. พัฒนาขึ้นอย่างครบวงจร โดยทำงานประสานกับระบบ Matthew ซึ่งเป็นเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาโดยเฉพาะ ด้วยการพัฒนาบน AWS เช่นเดียวกัน Matthew ได้เปิดโอกาสให้คณาจารย์สามารถสร้างผู้ช่วยอัจฉริยะที่ปรับแต่งให้เหมาะสมกับแต่ละรายวิชา ปัจจุบัน มีการสร้างผู้ช่วยอัจฉริยะแล้วมากกว่า 1,000 รูปแบบ เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของนักศึกษาในหลากหลายด้าน ทั้งการเตรียมเนื้อหาการเรียน การพัฒนาระบบติวเตอร์อัจฉริยะ ตลอดจนการเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นในการใช้งาน AI อย่างการเขียนคำสั่ง (Prompt Engineering)

การใช้ AI อย่างมีจริยธรรม

 มช. ได้วางแนวทางที่ชัดเจนในการใช้ Generative AI พร้อมทั้งนำระบบตรวจสอบการคัดลอกผลงานมาใช้ในการตรวจสอบชิ้นงานของนักศึกษา เพื่อให้มั่นใจว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นไปตามกรอบจริยธรรมของมหาวิทยาลัย โดยได้รับการสนับสนุนจากบริการของ AWS ผ่านการใช้ Amazon Bedrock Guardrails ที่ช่วยควบคุมการใช้ AI อย่างปลอดภัย และ Amazon Simple Storage Service (Amazon S3) ที่ให้บริการจัดเก็บฐานข้อมูลความรู้ขนาดใหญ่ของมหาวิทยาลัยอย่างมีประสิทธิภาพ 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาย รังสิยากูล ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเมืองเพื่อความยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “การก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัย AI ไม่ใช่เพียงแค่การนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ แต่เป็นการปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการสอน การวิจัย และการทำงานของเราใหม่ทั้งหมด ด้วยบริการ Generative AI จาก AWS ทั้ง Amazon Bedrock และ Amazon Nova ทำให้เราสามารถพัฒนาเครื่องมืออย่าง ChatGen และ Matthew เพื่อให้นักศึกษาทุกคนเข้าถึง AI ได้ โดยยังคงรักษาคุณค่าทางวิชาการและจริยธรรมไว้อย่างครบถ้วน”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนาทิพย์ จันทร์คง อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า “Matthew ได้เปลี่ยนวิธีการสอนการใช้งาน AI ของอ. ไปอย่างสิ้นเชิง อ.สามารถพัฒนาผู้ช่วยอัจฉริยะที่ชื่อ Kathi ขึ้นมาเพื่อช่วยแนะนำนักศึกษาจากทุกคณะในการเขียนคำสั่งที่เหมาะสมกับศาสตร์ในแต่ละสาขา โดย Kathi จะวิเคราะห์และให้คำแนะนำที่สร้างสรรค์เพื่อพัฒนาทักษะของนักศึกษา ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมากจากนักศึกษา เพราะระบบช่วยสอนแบบเป็นขั้นตอนนี้ช่วยให้พวกเขามั่นใจในการใช้ AI เป็นเครื่องมือสนับสนุนการเรียนรู้มากขึ้น”

อีริค คอนราด (Eric Conrad) กรรมการผู้จัดการด้านภาครัฐระดับภูมิภาคอาเซียนของ AWS กล่าวว่า “เทคโนโลยี AI กำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในวงการการศึกษา และสถาบันการศึกษาที่พร้อมรับและปรับตัวอย่างชาญฉลาดจะเป็นผู้กำหนดทิศทางการเรียนรู้ในอนาคต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ถือเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่นำบริการ AI อันทรงประสิทธิภาพของ AWS มาประยุกต์ใช้ เพื่อเปิดโอกาสให้ทั้งนักศึกษาและคณาจารย์สามารถใช้ประโยชน์จาก AI สร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ การนำ Amazon Bedrock และ ChatGen มาใช้ไม่เพียงทำให้เทคโนโลยี AI เป็นเครื่องมือที่ทุกคนเข้าถึงได้ แต่ยังวางรากฐานการใช้งานอย่างมีความรับผิดชอบ สร้างแบบอย่างที่ดีให้กับสถาบันการศึกษาทั่วโลก”

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles