สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ซึ่งเป็นสำนักข่าวชื่อดังด้านเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุนระดับโลก รายงานว่า ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนมาถึงกลางเดือนพฤษภาคมผ่านไป ทัวร์อาเซียนของ 2 ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอของทั้งนายสัตยา ไมโครซอฟท์ และนายทิม คุก แอปเปิล ที่มาด้วยตัวเอง โดยซีอีโอไมโครซอฟท์เดินทางไปอินโดนีเซียเป็นประเทศแรกและประกาศตัวเลขลงทุนมูลค่าสูงอย่างชัดเจนบนเวที ได้แก่ 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือรวมกว่า 70,300 ล้านบาท มาไทยเป็นประเทศที่ 2 ไม่มีการประกาศตัวเลขลงทุน มีแต่ประกาศจะเปิดศูนย์ข้อมูลแห่งแรกในไทย จากนั้นไปมาเลเซียเป็นประเทศสุดท้ายด้วยการประกาศ 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือรวมกว่า 144,300 ล้านบาท
ถัดมาซีอีโอแอปเปิลเดินทางมา 3 ประเทศในอาเซียน เริ่มจากเวียดนาม อินโดนีเซีย ซึ่งทั้ง 2 ประเทศเป็นฐานการผลิตสินค้าของแอปเปิลมาตั้งแต่ปี 2018 และปิดท้ายที่สิงค์โปร์ด้วยการประกาศลงทุนรวม 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือรวมกว่า 9,250 ล้านบาท ขณะที่ในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนนี้ อเมซอน อินคอร์ปอเรชั่น ประกาศจากสหรัฐอเมริกาด้วยการลงทุนด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ในประเทศสิงค์โปร์มูลค่า 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 333,000 ล้านบาท ก่อนหน้านี้ เอ็นวีเดียทุ่มลงทุนด้านศูนย์ข้อมูลในประเทศอินโดนีเซีย
อาเซียนที่มีประชากรมากถึง 675 ล้านคน ได้กลายเป็นจุดหมายใหม่ของการลงทุนจากประเทศมหาอำนาจตะวันตกโดยเฉพาะบริษัทชั้นนำของสหรัฐอเมริกาในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอย่างชัดเจน ซึ่งมีประเทศในเป้าหมายหลัก และเกิดการลงทุนอย่างชัดเจนมาร่วมทศวรรษก่อนหน้านี้ ได้แก่ สิงค์โปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย หากคิดเฉพาะศูนย์ข้อมูล หรือ Data Center เพียงอย่างเดียว พบว่ามีการประกาศเงินลงทุนรวมกันสูงถึง 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2.2 ล้านล้านบาทในอีก 3-4 ปีข้างหน้าในอาเซียน เนื่องจากตลาดสำคัญ 3 กลุ่ม ได้แก่ เกมสตรีมมิ่ง ช้อปปิ้งออนไลน์ และเทคโนโลยีปัญหาประดิษฐ์หรือเอไอ เติบโตอย่างรวดเร็ว
นายฌอน ลิม หุ้นส่วนบริหาร เอ็นดับเบิลยูดี โฮลดิ้งส์ ในประเทศสิงค์โปร์ กล่าวว่า สิงค์โปร์และมาเลเซียวางนโยบายความเป็นกลางอย่างโดดเด่นกับปัญหาความขัดแย้งในทางภูมิภาค เช่น จีน สหรัฐ ยูเครน และรัสเซีย โดยเฉพาะหากสงครามหรือความขัดแย้งรุนแรงยังไม่สิ้นสุด ภูมิภาคอาเซียนเป็นที่ที่มีเสน่ห์ที่สุด รัฐบาลในประเทศชั้นนำในอาเซียนผลักดันด้านการปรับปรุงคุณภาพการศึกษาด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้มีตัวเลือกมากมายนอกเหนือจากในจีน ฮ่องกง เป็นต้น
ตลาดอาเซียนที่มีประชากรมากถึง 675 ล้านคน ก็มากใหญ่พอสำหรับตลาดผลิตภัณฑ์สื่อสารและเทคโนโลยีรวมไปถึงบริการออนไลน์ทุกรูปแบบ ที่สำคัญ 65% ของประชากรในอาเซียนจะเป็นคนชั้นกลางภายในปี 2030 พร้อมกับการเพิ่มขึ้นของกำลังซื้อในคนกลุ่มนี้ ทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าเป็น 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 22.2 ล้านล้านบาทในอีก 6 ปีข้างหน้า ซึ่งคาดการณ์โดยกูเกิ้ล เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ และเบนแอนด์โค
เคียร์นี่ (Kearney) ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการที่ปรึกษาการลงทุนชื่อดังระดับโลก คาดการณ์ว่า การเปิดรับตลาดเทคโนโลยีเอไอในอาเซียน และมีพัฒนาการขยายตัวอย่างรวดเร็ว จะทำให้เกิดการเพิ่มมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 37 ล้านล้านบาทให้กับมูลค่าเศรษฐกิจอาเซียนภายในปี 2030 นี้ นั่นหมายถึงความต้องการตั้งศูนย์ข้อมูลในอาเซียน และเอเชียเหนือมีความต้องการเพิ่มถึงปีละ 25% ไปจนถึงปี 2028 ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับในสหรัฐอเมริกาที่มีความต้องการเพิ่มถึงปีละ 14% จะทำให้ในปี 2028 อาเซียนกลายเป็นแหล่งรายได้ของธุรกิจศูนย์ข้อมูลที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกที่ไม่นับรวมแหล่งรายได้เดียวกันในสหรัฐอเมริกา
ในมาเลเซียเมื่อปีผ่านไป เอ็นวีเดีย บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่ผลิตไมโครชิปให้กับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเอไอ ได้เตรียมลงทุนกับธุรกิจยักษ์ใหญ่ในท้องถิ่นเพื่อเตรียมสร้างเครือข่ายศูนย์ข้อมูลเอไอมูลค่า 4,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 159,100 ล้านบาท นอกจากนี้ นายเจนเซ่น ฮวง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอเอ็นวี้ดีย ยังพุ่งเป้าลงทุนในลักษณะคล้ายคลึงกันที่ประเทศเวียดนาม โดยกำหนดพื้นที่เป็นตัวเลือก ได้แก่ ฮานอย โฮจิมินห์ และดานัง