บราเธอร์ อะบรอด เปิดเผยรายงานการสำรวจดิจิทัล นอแมดส์ (Digital Nomads) ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่มีอาชีพการทำงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี หรือเป็นนายจ้างของตัวเอง (Self Employed) และทำงานในสถานที่ต่างๆ ที่อยู่ต่างประเทศในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง พบว่าในปี 2022 ที่ผ่านมากลุ่มคนเหล่านี้มีจำนวนมากถึง 35 ล้านคนทั่วโลก ที่สำคัญเป็นกลุ่มคนที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 787,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 26 ล้านล้านบาท และเป็นที่คาดการณ์ว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะเพิ่มจำนวนเป็น 60 ล้านคนภายในปี 2030 หรือเพิ่มขึ้นอีกกว่า 1.5 เท่าอีกหกปีข้างหน้า
กลุ่มมนุษย์ดิจิทัล นอแมดส์ จึงกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของประเทศต่างๆ ที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้และอาเซียน ซึ่งต้องการดึงดูดกลุ่มคนเหล่านี้ให้เดินทางเข้ามาทำงานและพักผ่อนท่องเที่ยวในเวลาเดียวกัน เนื่องจากสถิติการใช้จ่ายของกลุ่มคนดิจิทัล นอแมดส์ เฉลี่ยอยู่ที่ 22,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือกว่า 765,000 บาทต่อปี มูลค่าการใช้จ่ายดังกล่าวยังพบว่า มีจำนวนมากกว่ารายได้ประชาชาติในภาพรวม (Gross National Income) ของหลายประเทศที่อยู่ในแถบอาเซียน และเอเชียใต้ นอกจากนี้ การใช้ชีวิตและการทำงานสามารถใช้จ่ายเงินสูง ซึ่งเกี่ยวข้องกับรูปแบบการทำงานและการท่องเที่ยวแบบหรูหรา
สำหรับปัจจัยบวกที่มีผลให้กลุ่มมนุษย์ดิจิทัล นอแมดส์ สนใจและอยากจะเดินทางมาในภูมิภาคอาเซียน และเอเชียใต้นั้น ส่วนหนึ่งมาจากสภาวะของภูมิอากาศในแถบนี้อยู่ในเขตร้อน ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับในยุโรปหรืออเมริกาเหนือ ที่ต้องเผชิญกับความหนาวเย็นจัดในช่วงฤดูหนาว นอกจากนี้แหล่งท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ ซึ่งมีความแตกต่างโดยเฉพาะตัวด้านวัฒนธรรมมากมายหลายแห่งในทั้งสองภูมิภาค และปัจจัยสุดท้ายคือ ค่าใช้จ่ายถูกมากเมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานในประเทศต้นทางของกลุ่มมนุษย์ดิจิทัล นอแมดส์
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศชั้นนำในแถบอาเซียนและเอเชียใต้ที่เปิดตลาดรองรับกลุ่มมนุษย์ดิจิทัล นอแมดส์ โดยในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ประกาศใช้มาตรการ ผ่อนคลายข้อจำกัดวีซ่าของชาวต่างประเทศย้อนกลับไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมารัฐบาลไทยประกาศใช้ วีซ่าฟรีเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 90 จากเดิม 60 ประเทศทั่วโลก สำหรับการเข้ามาอยู่ในแต่ละครั้งของชาวต่างชาติกับวีซ่าฟรีนั้น จะสามารถอยู่ได้นานถึง 180 วันและสามารถขอต่อได้อีก 180 วัน และมีระยะเวลานานถึง 5 ปี
รัฐบาลประเทศอินโดนีเซีย ประกาศใช้มาตรการวีซ่าฟรีกับ 20 ประเทศซึ่งจะมีผลตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป ซึ่งจะมีระยะเวลาของมาตรการดังกล่าวนานถึง 1 ปี ด้านรัฐบาลประเทศมาเลเซียซึ่งใช้มาตรการวีซ่าฟรีให้กับชาวต่างชาติมาตั้งแต่ปี 2022 นั้นพบว่าเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลมาเลเซียได้ขยายประเภทวีซ่าฟรีให้ครอบคลุมอีก 2 อาชีพของชาวต่างชาติ ได้แก่ บัญชี และทนายความที่ปรึกษาการลงทุน
รัฐบาลประเทศศรีลังกากำลังพิจารณา การออกวีซ่าใหม่ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดมนุษย์ดิจิทัล นอแมดส์ ด้วยความหวังว่าจะมีเม็ดเงินจากกลุ่มคนเหล่านี้ซึ่งเป็นคนต่างประเทศเข้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศศรีลังกาที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตอย่างรุนแรงในปี 2022 เป็นต้นมา ในปี 2023 ที่ผ่านมาศรีลังกาได้ออกวีซ่าที่ไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย ในการขอวีซ่า เพื่อดึงดูดชาวต่างประเทศจากจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย นอกจากนี้รัฐบาลศรีลังกายังเตรียมที่จะขยายมาตรการดังกล่าวให้ครอบคลุมไปเป็น 30 ประเทศภายในเดือนตุลาคมนี้
อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจและสังคมในประเทศต่างๆเหล่านี้ ล้วนมีความกังวลอย่างยิ่งกับมาตรการดังกล่าวที่จะส่งผลให้เกิดผลทางลบ ซึ่งได้แก่การเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอาชญากรรมโลกไซเบอร์