อินฟินีออนเปิดโรงงานผลิตพาวเวอร์เซมิคอนดักเตอร์ใหญ่สุดในโลก ป้อนอุตสาหกรรมประกอบรถอีวี

อินฟินีออน (Infineon) บริษัทผลิตไมโครชิปชั้นนำระดับโลกในยุโรป เปิดเผยว่า ได้เริ่มต้นการผลิตไมโครชิปในโรงงานผลิตไมโครชิปที่จะมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อทำการผลิตเต็มเพดานสูงสุดใน 5 ปีหน้า ซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย การเปิดเผยเรื่องดังกล่าวถือเป็นการตอกย้ำชัยชนะของความพยายามของประเทศมาเลเซียในการก้าวเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก โรงงานดังกล่าวเป็นโรงงานผลิตซิลิคอนคาร์ไบด์ หรือ Silicon Carbide สำหรับใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตรถอีวี และศูนย์ข้อมูล หรือ Data Center สำหรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ

รัฐบาลมาเลเซีย รายงานการลงทุนในปี 2023 ว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 329,500 ล้านริงกิต หรือกว่า 2.5 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 24% จากปี 2022 นอกจากนี้ ยังดึงดูดการลงทุนในศูนย์ข้อมูล ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ร้อนแรงที่สุดอีกด้วย นอกจากนี้ สำนักพัฒนาการลงทุนแห่งมาเลเซีย (MIDA) เปิดเผยว่า มากกว่า 45% ของการลงทุนในปี 2023 เกี่ยวข้องกับภาคการไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมข้อมูลและภาคการสื่อสาร

เอ็ง ก๊ก เตียง รองประธานอาวุโสและกรรมการผู้จัดการ อินฟินีออน เขตกูลิม กล่าวว่า อินฟินีออน มีพนักงานประมาณ 15,000 คนในมาเลเซีย มากกว่าที่ใดในโลก ซึ่งรวมถึงสำนักงานใหญ่ในเยอรมนี สำหรับไมโครชิปประเภทซิลิคอนคาร์ไบด์มีความสำคัญสำหรับการใช้งานต่าง ๆ เช่น การชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ากำลังสูง และโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานหมุนเวียน ขณะที่ชิปแกลเลียมไนไตรต์ มีความหนาแน่นของพลังงานสูง สามารถใช้ในการผลิตเครื่องชาร์จและหัวแปลงให้มีขนาดเล็กลงได้

นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นายอันวาร์ อิบราฮิม กล่าวว่า ความมุ่งมั่นของรัฐบาล ในการดึงดูดการลงทุนด้านไมโครชิป รวมทั้งการพัฒนาแรงงานด้านเทคโนโลยีให้มากขึ้น จึงถือเป็นก้าวสำคัญ เพื่อแสดงให้เห็นว่ามาเลเซียสามารถดึงดูดการลงทุนระดับโลกได้

สำหรับปีงบประมาณ 2024 ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน อินฟินีออนคาดการณ์รายได้อย่างน้อย 600 ล้านยูโร หรือราว 23,000 ล้านบาท จากโซลูชั่นที่เกี่ยวข้องกับซิลิคอนคาร์ไบด์

อินฟินีออน เปิดเผยต่อไปว่า เตรียมเงินลงทุนเพิ่มอีก 5 พันล้านยูโร หรือกว่า 190,000 ล้านบาท สำหรับเฟสที่สองของโรงงานในกูลิม ซึ่งลงทุนล่วงหน้าแล้ว 1,000 ล้านยูโร หรือกว่า 38,000 ล้านบาท และอีก 5,000 ล้านยูโร ในความตกลงการออกแบบเพื่อผลิตขายปริมาณมากกับทางลูกค้า

ตามรายงานของบริษัทวิจัย การ์ตเนอร์ (Gartner) ตลาดเซมิคอนดักเตอร์ช่องว่างแถบพลังงานกว้างคาดว่าจะสูงถึง 13,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 4.6 แสนล้าน) ภายในปี 2028 โดยขยายตัวอัตราการเติบโตแบบทบต้นต่อปี (CAGR) ที่ 29.9% ระหว่างปี 2023 ถึง 2028

นายคีต ยัพ หัวหน้าร่วมฝ่ายปฏิบัติการและประสิทธิภาพการทำงานประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของเคียร์เน่ (Kearney) บริษัทที่ปรึกษาจากสหรัฐ กล่าวว่ามาเลเซียมีแนวโน้มที่จะขยายบทบาทของตัวเองในห่วงโซ่อุปทานชิปมากขึ้น มาเลเซียดึงดูดการลงทุนจำนวนมาก และยังจูงใจกลุ่มบุคลากรที่มีความสามารถ มีระบบนิเวศและการสนับสนุนจากรัฐบาลที่ดี อย่างไรก็ตาม การแข่งขันดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์นั้นเข้มข้นมาก

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles