ฮับการเงิน! ไทยอยู่ตรงไหนของศูนย์กลางการเงินโลก ผ่าน 7 เดือนอันดับไทยหล่น 2 ขั้นแตะที่ 95 ของโลก ปัจจัยที่มีเป็นสารตั้งต้น ยังห่างไกลจากประเทศชั้นนำของโลก

ฮับการเงิน! ไทยอยู่ตรงไหนของศูนย์กลาง การเงิน โลก ผ่าน 7 เดือนอันดับไทยหล่น 2 ขั้นแตะที่ 95 ของโลก ปัจจัยที่มีเป็นสารตั้งต้น ยังห่างไกลจากประเทศชั้นนำของโลก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Center หรือ Financial Hub) คือศูนย์กลางของกิจกรรมทางการเงิน โดยคุณสมบัติสำคัญคือ มีสถาบันการเงินหลากหลายประเภทและมีจำนวนมาก มีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่ดี มีความเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ สูงซึ่งเอื้อต่อการเติบโตของปริมาณธุรกรรมข้ามพรมแดน มีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน รวมถึงมีกฎหมายและเทคโนโลยีที่เอื้ออำนวย ซึ่งองค์ประกอบทั้งหมดช่วยให้ศูนย์กลางทางการเงินมีความพร้อมในการให้บริการทางการเงินที่ครอบคลุมและมีความหลากหลาย

รายงาน Global Financial Centres Index 36 (GFCI) ได้ประเมิน “กรุงเทพฯ” ที่อันดับ 95 เมื่อเดือนกันยายน 2567 ลดลงจากอันดับที่ 93 เมื่อเดือนมีนาคม 2567 ขณะที่หากเทียบกับศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคหรือโลก อย่างเช่น นิวยอร์ก (อันดับ 1) ลอนดอน (2) ฮ่องกง (3) สิงคโปร์ (4) หรือดูไบ (16) จะพบว่าอันดับของไทยยังทิ้งห่างอยู่มาก เนื่องจากเมืองศูนย์กลางทางการเงินอันดับต้น ๆ เหล่านั้น ได้รับการออกแบบกฎกติกา เกณฑ์ด้านภาษี และโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศ ที่พร้อมสนับสนุนการเคลื่อนย้ายเงินทุนและการระดมทุนอย่างมาก

นอกจากนี้ เมืองเหล่านั้นยังมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน สอดคล้องกับจุดแข็งทางเศรษฐกิจและการเงินของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน อาทิ สิงคโปร์มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการทางการเงิน (Wealth Management) ขณะที่ ฮ่องกงเป็นประตูทางการเงินสู่จีนและประเทศอื่นในโลก ทำให้เชี่ยวชาญด้านบริการทางการเงินสำหรับกิจการข้ามชาติ เช่น Investment Bank และ Trade Finance เป็นต้น

ไทยเก่งอะไร? จากสายตาของต่างชาติ ไทยถูกมองว่ามีจุดแข็งหลายด้าน โดยในมิติของการค้าภายในอาเซียน เงินบาทเป็นสกุลเงินที่ได้รับความนิยมมากที่สุด รองจากสกุลเงินดอลลาร์ฯ ในการรับชำระค่าสินค้าส่งออก และจ่ายเป็นค่าสินค้านำเข้า กับคู่ค้าในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะการค้ากับกัมพูชา สปป. ลาว และเมียนมาร์ นอกจากนี้ พัฒนาการของตลาดการเงินไทยที่มีความเป็นสากล มีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและโลจิสติกส์ที่ดี อีกทั้งยังมีค่าครองชีพที่อยู่ในระดับที่ยังไม่สูงนัก มีวัฒนธรรมที่หลากหลายและเปิดกว้าง

จะเห็นได้จากภาพที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ติดอันดับโลก อาทิ InterNations ซึ่งเป็นชุมชนออนไลน์สำหรับชาวต่างชาติ ได้จัดอันดับเมืองที่น่าอยู่และน่าทำงานที่สุดในโลกสำหรับชาวต่างชาติ ในปี 2566 พบว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดอันดับ 9 ของโลกสำหรับชาวต่างชาติ โดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น คุณภาพชีวิต ค่าครองชีพ และความพึงพอใจในอาชีพการงาน ขณะเดียวกัน นิตยสาร Time Out จัดอันดับให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ดีที่สุดอันดับ 2 ของโลกในปี 2568 โดยเน้นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม อาหาร และความสุขของคนในเมือง เป็นต้น�

จุดแข็งข้างต้นทั้งด้านโครงสร้างดิจิทัล โลจิสติกส์ ความเป็นเมืองน่าอยู่ และมาตรฐานของสถาบันการเงินไทย ถือเป็น ‘ปัจจัยตั้งต้น’ สำหรับไทยที่ต้องการขยายบทบาทการเป็นศูนย์กลางทางการเงินในอนาคต อย่างไรก็ตาม หากต้องการขยายบทบาทของการเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่ได้รับการตอบรับจากต่างชาติมากขึ้นกว่านี้ ยังต้องอาศัยการเร่งเพิ่มศักยภาพของแรงงานไทย การสนับสนุนให้มี Talent จากต่างชาติเข้ามามากขึ้น

การลดภาษีและการผ่อนคลายเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค ควบคู่กับการพัฒนาจุดแข็งทางเศรษฐกิจของไทยประกอบด้วย ซึ่งเป็นที่มาของการออกกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจการเงิน พ.ศ…. ขณะที่ ยังมีอีกหลายประเด็นที่ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องยังต้องร่วมมือกันพัฒนา เพื่อให้ไทยสามารถมีพื้นที่ยืนที่ดีขึ้นในเวทีการเป็นศูนย์กลางทางการเงินโลกอย่างแท้จริง

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles