จากข้อมูลการใช้จ่ายปี 2566 The 1 Insight พบว่า 10 อันดับของขวัญยอดนิยม และมียอดขายเติบโตอย่างโดดเด่นในช่วงก่อนวันวาเลนไทน์ ระหว่างวันที่ 1-14 กุมภาพันธ์ 2566 และมีแนวโน้มคล้ายคลึงกันในทุกปี โดยมีทั้งของขวัญตามธรรมเนียมที่นิยมมอบให้กันในวันวาเลนไทน์ อาทิ ดอกกุหลาบและช็อกโกแลต ไปจนถึงของขวัญอื่นๆ หลากหลายหมวดตามรสนิยมของผู้ให้และผู้รับ
ซึ่งสินค้า 10 อันดับที่ขายดีในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ ได้แก่
1.ดอกกุหลาบ +400%
2.ตุ๊กตาหมี +180%
3. เครื่องประดับจิวเวลรี่ +95%
4.นาฬิกา +59%
5.น้ำหอม +50%
6.ช็อกโกแลต +47%
7.ลิปสติก +29%
8.ชุดชั้นใน +17%
9.กระเป๋าถือ +12%
10.ไวน์ +8%
นอกจากนั้น CRC VoiceShare ยังได้สรุป 3 แง่มุมของพฤติกรรมการใช้จ่ายของขวัญวาเลนไทน์ ได้แก่
1. ระยะเวลา โดยภาพรวม คู่รักมักจะเตรียมการในระยะเวลาที่ค่อนข้างกระชั้นชิด เป็นที่มาของเทรนด์ “Last-Minute Lovers” ที่เกิดสอดคล้องกันทั่วโลก โดย 30% ของผู้ตอบแบบสำรวจซื้อของขวัญล่วงหน้าเพียง 1 วัน 60% ซื้อล่วงหน้า 1 สัปดาห์ 8% ซื้อล่วงหน้า 1-6 เดือน และ 2% ซื้อล่วงหน้า 6 เดือนขึ้นไป
2. งบประมาณ ผลสำรวจพบว่า กว่า 36% วางแผนซื้อของขวัญวาเลนไทน์ในงบ 500-1,000 บาท 33% วางแผนในงบ 1,000-3,000 บาท 21% วางแผนในงบ 3,000 บาทขึ้นไป
3. สถานที่ กว่า 85% นิยมเดินเลือกของขวัญที่ห้างสรรพสินค้า เนื่องจากมีความสะดวกสบายและสามารถรับสินค้าได้ทันที ส่วนอีก 15% ซื้อผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซและโซเชียลมีเดียต่างๆ
สำหรับพฤติกรรมด้านอื่นๆ ในการฉลองเทศกาลวาเลนไทน์ของคนไทย ผลการสำรวจพบว่ากว่า 30% ให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์ในระดับมาก-มากที่สุด กิจกรรมคู่รักที่เป็นที่นิยม ได้แก่ ออกไปรับประทานอาหาร เดินเล่นชอปปิงที่ห้างสรรพสินค้า และมอบของขวัญ โดย 42% ของผู้ตอบแบบสำรวจทุกวัยเลือก ‘ร้านอาหารญี่ปุ่น’ เป็นอันดับ 1 สำหรับการฉลองวันวาเลนไทน์ ตามมาด้วย 27% เลือก ‘ร้านอาหารไทย’ ซึ่งเป็นที่นิยมสูงสุดในกลุ่ม Baby Boomers และ 10% เลือก ‘ร้านอาหารอิตาเลียน’ ซึ่งเป็นที่นิยมสูงสุดในกลุ่ม Gen Z