นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าการลงทะเบียนร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ออกเกณฑ์เรื่องของการลงทะเบียนร้านค้า โดยระหว่างนี้ คณะกรรมการกำกับฯ กำลังหาเงื่อนไขที่เหมาะสมที่สุด และให้ง่ายที่สุดต่อประชาชน โดยเฉพาะร้านค้ารายเล็ก
โดย เป็นข้อคำนึงของรัฐบาล อยากให้พ่อค้า–แม่ค้า ที่ขายของอยู่ตามตลาด และคนขายขายของ ได้รับเงินในโครงการนี้เข้าสู่กระบวนการลงทะเบียนได้ง่ายขึ้น โดยรัฐบาลจะทำตรงนี้ให้ง่ายที่สุด และประชาชนเข้าถึงได้ง่ายที่สุด ทั้งนี้ยืนยันว่า โครงการนี้จะกระจายไปยังรายย่อย ไม่ใช่แค่รายใหญ่เพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นจุดประสงค์ของรัฐบาลต้องการให้ลงไปในตลาดและชุมชนให้ประชาชนได้ใช้จ่ายกระจายเม็ดเงินในตลาดใกล้บ้าน แต่จะต้องรักษาสมดุลระหว่างความง่ายในการใช้งานของประชาชนและจำนวนร้านค้าให้เพียงพอ ทำให้ต้องรวมร้านสะดวกซื้อเข้ามาในโครงการด้วย
“ถ้าสมมติ ลงไปในตลาดมากขึ้น ถ้าลงตลาดอย่างเดียว แล้วไม่มีร้านสะดวกซื้อเข้ามา ก็เป็นความยากของประชาชนในการใช้งาน ดังนั้น จึงเป็นการรักษาสมดุล ระหว่างความง่ายของประชาชน กับประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจ”
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกำกับฯ นัดประชุมทุกสัปดาห์ เพื่อจะกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งมีบางเรื่องที่คิดไม่ถึง เช่น หากร้านค้าที่ลงทะเบียนได้รับเงินไปแล้ว แต่เสียชีวิตในระหว่างโครงการนั้น เงินจะตกอยู่ที่ใคร, ต้องใช้กฎหมายฉบับไหนเข้ามาดูแล เป็นต้น ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก็ต้องเป็นมิติที่ต้องหารือกัน โดยทำงานร่วมกันทุกสัปดาห์
สำหรับ ผลสำรวจของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ SME ที่มีต่อนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยพบว่ามีความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการสูงถึง 75.2% ว่า เป็นสิ่งที่เห็นว่ามาตั้งแต่แรกแล้วว่าภาคธุรกิจ SME มีปัญหา เพราะขาดเรื่องของกำลังซื้อ ซึ่งเป็นเสียงเรียกร้องจาก SME ที่ต้องมีกระบวนการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินในสถานการณ์เช่นนี้ ดังนั้นการที่มีเม็ดเงินจำนวนกว่า 500,000 ล้านบาท ลงไปสู่ระบบในระยะเวลาที่รวดเร็ว และในระยะเวลาที่กระชับ กระจายตัวในพื้นที่ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการ SME ซึ่งสอดคล้องกันกับแนวคิดของรัฐบาล