นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ได้โพสต์เฟสบุ๊กเกี่ยวกับสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนที่จัดเก็บข้อมูลในระบบเครดิตบูโร สิ้นสุดไตรมาสที่ 1 ปี 68 ดังนี้ หนี้สินครัวเรือนในภาพใหญ่ของประเทศอยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท หนี้สินครัวเรือนที่มีการจัดเก็บในระบบเครดิตบูโรที่มาจากสถาบันการเงินกว่า 160 แห่งมีอยู่เท่ากับ 13.5 ล้านล้านบาท หนี้เสีย, NPLs มีจำนวน 1.19 ล้านล้านบาทลดลงจากเดือนมกราคม 2568 จำนวน 3 หมื่นล้านบาท หนี้เสียนี้ครอบคลุมจำนวนลูกหนี้ 5.15 ล้านคน 9.13 ล้านบัญชี
เจาะลงมาในหนี้เสียตั้งแต่ 1 แสนบาทลงมาพบว่ามีอยู่เป็นจำนวนเงิน 1.2 แสนล้านบาทหรือประมาณ 10% ของยอดหนี้เสียนั้นครอบคลุมจำนวนรายของคนที่เป็นลูกหนี้ 3.28 ล้านคน 4.44 ล้านบัญชี ถ้าเรามีมาตรการแก้หนี้ตรงนี้แบบเบ็ดเสร็จก็จะช่วยคนได้เป็นจำนวนหลายล้านคน หนี้ส่วนใหญ่คือหนี้ไม่มีหลักประกัน, เจ้าหนี้มีการกันสำรองเต็มร้อยไปแล้วตามมาตรฐานการบัญชี ที่สำคัญคือเจ้าหนี้ติดต่อไม่ค่อยจะได้ แต่ลูกหนี้เหล่านั้นยังอยู่ในสังคมเรา ยังมีชีวิต ยังดิ้นรนฟันฝ่าอยู่ ช่วยเขาตรงนี้ให้กลับมาเป็นกำลังในการทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจดีกว่าหรือไม่ ฟ้องร้องบังคับคดี 10 ปีมันคุ้มหรือไม่…นี่คือคำถาม
แน่นอนครับท่านที่ไม่เห็นด้วยก็จะบอกว่ามันจะบ่มเพาะนิสัย, วัฒนธรรม เป็นหนี้ไม่ใช้หนี้ แต่ต้องเข้าใจความจริงของชีวิตในเศรษฐกิจยามนี้ว่า การเป็นหนี้เสีย ถูกตามหนี้เข้มข้น ถูกดำเนินคดี กู้เงินไม่ได้ มันคือการลงโทษในหลายปีมานี้ ไม่นับว่าช่วงโรคระบาดก็ไม่มีการรอลงอาญาน่าจะมีสัดส่วนกับความผิดหลงที่ไม่จ่ายหนี้ของมูลหนี้ต่ำกว่าแสนบาทหรือไม่
ขณะที่เจ้าหนี้ถ้าจะตัดสูญตัดใจก็ไม่น่าจะกระทบกำไรของท่านเท่าใดแล้ว อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการสำรองหนี้สูญก็น่าจะได้ประโยชน์ทางภาษีอากรไปแล้วหรือไม่ อัตราเปอร์เซ็นต์ในการขายทิ้งให้กับ AMC ก็ไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงมากมายอะไรหรือไม่… เราๆท่านๆลองคิดดูนะกันครับ
หนี้กำลังจะเสียหรือ SM. ก็อยู่ในระดับที่ 5.75แสนล้านบาท เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนก็อยู่ที่ 6.44แสนล้านบาทลดลงมา 10.8% เทียบช่วงเดียวกันกับในปีที่แล้ว การเร่งปรับโครงสร้างหนี้หลังเป็นหนี้เสียหรือทำ TDR.นั้นมียอดคงค้าง 1.08ล้านล้านบาทเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนก็อยู่ที่ 1.07ล้านล้านบาท yoy.แทบไม่ขยับ
แต่การทำ DR. หรือปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน, การปรับโครงสร้างหนี้ก่อนไหลมาไปเป็น NPLs. นั้นตอนนี้มาอยู่ที่ 1.12 ล้านล้านบาทแล้ว ตัวเลขที่เพิ่ม QoQ.เพิ่มสูงถึง 31.7% สิ่งนี้มันสะท้อนได้บ้างว่า คนเป็นหนี้, ไปไม่ไหว, ผ่อนติดขัด เจ้าหนี้ถูกกติกาบังคับให้ต้องยื่นข้อเสนอให้ลูกหนี้ทำ DR. ตัวเลขมันขึ้นเร็วมากจากการรายงานครั้งแรกเมื่อเมษายน 2567 เขื่อนยักษ์ DR. มันจึงยกสูงกั้นการไหลมาเป็น NPLs. อย่างที่เห็นกัน
ประเด็นเล็กๆคือ ลูกหนี้ที่ทำ DR. แล้วผ่อนได้ตามสัญญา DR. เขาคือคนที่มีแผล รบกับหนี้แล้วไม่ค่อยชนะ เขาควรได้ยาสมานแผลช่วย “ยี่ห้อ คุณสู้ เราช่วย” เพราะเขาสู้ไงครับ เขาไม่ยอมแพ้จนไหลไปเป็น NPLs.
ทำไมเราไปมองว่า เขาผ่อนได้ดีแล้ว จึงไม่ให้เขาเข้าร่วมโครงการ คุณสู้ เราช่วย ,การตัดสินใจไม่ทำอะไร, kick the can down the road, No Action Talk Only, มันคือนิยามของ moral hazard อย่างที่ท่านชอบพูดเหมือนกันนะครับผม,