สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เปิดเผยว่าผลิตภาพ หรือผลผลิตต่อการผลิต หรือ Productivity ถือเป็นหัวใจสำคัญของการแข่งขันของทุกประเทศ ซึ่งการเพิ่มผลิตภาพไม่ใช่เพียงการทำให้ตัวเลขอย่าง GDP หรือ Output เพิ่มขึ้น แต่เป็นการดึงดูดการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ หรือเอฟดีไอ ให้ไหลเข้าในประเทศอย่างยั่งยืน
เวียดนามถือเป็นหนึ่งในประเทศที่น่าจับตามอง เนื่องจากมีการผลักดันการเพิ่มผลิตภาพอย่างจริงจังและชัดเจน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผลิตภาพของประเทศเวียดนามมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีอัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยอยู่ที่ 5.1% ต่อปี ส่งผลสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคอาเซียน ที่สำคัญอยู่สูงกว่าสิงคโปร์และไทย
ถึงแม้แต่ในช่วงปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เวียดนามยังคงมีอัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานอยู่ที่ 4.7% ซึ่งสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียย ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เวียดนามมีอัตราการเติบโตของผลิตภาพสูง ได้แก่แรงงานเวียดนามที่มีทักษะเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลเวียดนามเน้นการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนแรงงานมีฝีมือในประเทศเป็น 30% ภายในสิ้นปี 2568
ด้านค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าคู่แข่งนั้น เวียดนามมีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าหลายประเทศ ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ เช่น ฮานอย โฮจิมินห์ อยู่ที่ประมาณ 4,680,000 ด่งต่อเดือน หรือประมาณ 6,700 บาท ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำของจีนอยู่ที่ 1,420 หยวนต่อเดือน หรือประมาณ 17,000 บาท ปัจจัยต่อมา คือ นโยบายสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติ เวียดนามมีนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างชาติ ทั้งการลดกฎระเบียบในการดำเนินธุรกิจและอุปสรรคจากการค้า การให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีและยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร และวัตถุดิบ รวมถึงการเข้าร่วมเขตการค้าเสรีต่างๆ ซึ่งช่วยลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างประเทศ
ปัจจุบันบริษัทขนาดใหญ่จำนวนมาก อาทิ Adidas Nike IKEA Apple Foxconn Dell และ Samsung เป็นต้น ให้ความสนใจลงทุนและย้ายฐานการผลิตมาที่เวียดนามเพิ่มขึ้น จนอาจทำให้เวียดนามสามารถก้าวขึ้นมาเป็นโรงงานโลก (World Factory) แทนที่จีนซึ่งยังคงได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกาที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อพิจารณาจากมูลค่าการนำเข้าของสหรัฐฯ ในปี 2565 เวียดนามได้ก้าวข้ามเกาหลีใต้ขึ้นมาเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของสหรัฐฯ ในลำดับที่ 6 มูลค่าการนำเข้า 127.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนไทยอยู่ในลำดับที่ 14 มูลค่าการนำเข้า 58.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม การผลิตแรงงานทักษะสูงที่ไม่ทันต่อความต้องการ กระทรวงแรงงาน ผู้พิการ และสวัสดิการสังคมของเวียดนามในปี 2565 รายงานว่า มีแรงงานเพียง 26% เท่านั้นที่ได้รับการฝึกอบรมอย่างสมบูรณ์ ในขณะที่แรงงานที่เหลือยังขาดทักษะและไม่สามารถตอบสนองความต้องการขององค์กรได้ ซึ่งองค์กรในเวียดนามถึง 57% กำลังประสบปัญหาในการสรรหาแรงงานทักษะสูงและถึงแม้เวียดนามจะสามารถเพิ่มอัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานได้อย่างต่อเนื่อง แต่ผลิตภาพแรงงานกลับยังคงต่ำกว่าหลายประเทศ
ด้าน Productivity Databook 2023 โดย APO รายงานว่า ในปี 2564 เวียดนามมีมูลค่าผลิตภาพแรงงานต่อคนที่ 20,500 เหรียญสหรัฐ(738,000 บาท) ในขณะที่มาเลเซียอยู่ที่ 60,900 เหรียญสหรัฐ(2,192,400 บาท) ไทยอยู่ที่ 33,000 เหรียญสหรัฐ(1,188,000 บาท) อินโดนีเซีย 26,300 เหรียญสหรัฐ(946,800 บาท) และฟิลิปปินส์ 23,600 เหรียญสหรัฐ(849,600 บาท) ซึ่งสะท้อนว่า อัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานของเวียดนามมีความเสี่ยงที่จะถูกก้าวข้ามได้ในอนาคต หากประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนมีนโยบายและมาตรการที่สามารถกระตุ้นอัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงาน
สถานการณ์ที่ประเทศกำลังเผชิญส่งผลให้เวียดนามตัดสินใจผลักดันการเพิ่มผลิตภาพแรงงานเป็นแผนระดับชาติตามมตินายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งกำหนดเป้าหมายเป็น 1 ใน 3 ประเทศชั้นนำด้านอัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานในภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2573 โดยเพิ่มอัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยต่อปีเป็น 6.5% แบ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมแปรรูปและผลิต 6.5-7% ภาคเกษตรกรรม ป่าไม้ และประมง 7-7.5% และภาคบริการ 7-7.5% เพื่อมุ่งให้ผลิตภาพแรงงานกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญในการเติบโตอย่างยั่งยืน และทำให้เวียดนามสามารถใช้โอกาสจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ