เคเคพีชี้ ดัชนีหุ้นไทยยังไม่ถูกจริงกับปัจจัยพื้นฐาน มองดัชนี SET จ่อดิ่งที่ 1,000 จุด เซ่นความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัว ลดเป้าสิ้นปีลงนี้เหลือ 1,230 จุด

บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด(มหาชน) เปิดเผยรายงานกลยุทธ์การลงทุนประเมินว่าตลาดหุ้นไทยกำลังเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยมหภาคหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้า นโยบายการเงินที่ยังคงตึงตัว และแรงกดดันจากมาตรการภาษีระหว่างประเทศ ส่งผลให้ปรับลดเป้าหมาย ดัชนี SET ปี 2025 ลงเหลือ 1,230 จุด จากเดิม 1,460 จุด ซึ่งสะท้อนอัพไซด์เพียง 5% จากระดับปัจจุบัน นอกจากนี้ ในระยะสั้นยังมีความเสี่ยงที่ดัชนีจะปรับระดับลงไปทดสอบ 1,000 จุด ซึ่งอาจกระตุ้นให้ภาครัฐต้องออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจ (policy panic)

KKP มองตลาดหุ้นไทยเผชิญแรงกดดันหนักปรับลดเป้าหมายดัชนี SET ปี 2025 เหลือ 1,230 จุด แจงโผหุ้นปลอดภัย” ระบุว่า ตลาดหุ้นถูกปัจจัยมหภาคกดดันต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจไทยหากไม่นับภาคการท่องเที่ยว อยู่ในภาวะถดถอยติดต่อกัน 9 ไตรมาส EPS และ GDP ยังโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตระยะยาวตั้งแต่ช่วงโควิด นโยบายการเงินที่ตึงตัวและประสิทธิผลของนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ลดลง เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดที่มีผลตอบแทนแย่ลงในปีนี้ ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยภายในมากกว่าปัจจัยภายนอกอย่างเรื่องแรงกดดันด้านภาษีศุลกากรเหมือนที่ประเทศอื่น ๆ เช่น จีน แคนาดา สหภาพ ยุโรป และเวียดนามกำลังได้รับผลกระทบ

บล.เกียรตินาคินภัทรประเมินว่าดัชนี SET อาจร่วงลงไปที่ 1,000 จุด จากความเสี่ยงของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ (growth shock) ในไตรมาส 2/2025 อาทิ การท่องเที่ยวที่อ่อนแอ การส่งออกที่ถูกท้าทายจากแรงกดดันจากมาตรการภาษี ภาคการบริโภคที่อ่อนแอ และการลงทุนที่ซบเซา ในขณะ ที่แรงหนุนเดียวที่อาจช่วยพยุงตลาดได้คือ การที่นักลงทุนกลับเข้าซื้อเมื่อมูลค่าตลาด (valuation) อยู่ในระดับที่ถูกเกินไปหากเทียบกับมูลค่าพื้นฐานซึ่งประเมินว่าอยู่ที่ระดับ P/E 10-11 เท่า หรือที่ดัชนี SET 1,000 จุด หรือการที่ผู้กำหนดนโยบายออกมาตรการกระตุ้นอย่างเร่งด่วนและเร็วกว่าที่คาดนอกจากนี้ บล.เกียรตินาคินภัทรคาดว่า การผ่อนคลายนโยบายการเงินในการประชุม กนง. ช่วงกลางปี อาจช่วยให้ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรขยายตัว (yield curve steepening) และหนุนดัชนี SET ได้ แต่จนกว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะชัดเจน แนะนำให้เน้นลงทุนในกลุ่มหุ้นปลอดภัย ได้แก่
• โรงพยาบาล (BCH, PR9, BDMS, BH) ซึ่งมีการเติบโตที่แข็งแกร่งท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอ
• กลุ่มโทรคมนาคม (TRUE, ADVANC) ที่ได้รับประโยชน์จากปัจจัยสนับสนุนของการควบรวมในอุตสาหกรรม
• กลุ่มธนาคาร (KBANK, SCB) ซึ่งมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลและการบริหารเงินทุนที่ดี

อย่างไรก็ตาม วันที่ 30 เมษายน 2025 จะเป็นวันสำคัญ สำหรับการประชุม กนง. ซึ่งอาจมีน โยบายเร่งด่วนออกมา หากเกิดขึ้นจริง อาจเกิดแรงหมุนเวียนจากหุ้นปลอดภัยไปสู่หุ้นกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับประโยชน์ เช่น
• หุ้นที่มีภาระหนี้สูง (AWC, ERW, IRPC, GPSC) ซึ่งจะได้รับประโยชน์เป็นกลุ่มแรก
• กลุ่มธนาคารขนาดเล็ก อุตสาหกรรมที่อิงกับการบริโภค (รวมถึงสื่อ) สินเชื่อนอกระบบ และอสังหาริมทรัพย์

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles