Krungthai COMPASS ซึ่งเป็นสำนักวิจัยเศรษฐกิจของธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า มาตรการกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท หรือ Digital Wallet เป็นเครื่องมือที่จะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ มีเป้าหมายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงระดับล่าง ซึ่งจะสร้างการใช้จ่ายในร้านค้าปลีกท้องถิ่น คาดว่าจะเริ่มใช้จ่ายจริงในไตรมาส 4 ปีนี้ โดยมูลค่าในโครงการฯ อยู่ที่ 500,000 ล้านบาท คิดเป็น 2.8% ของจีดีพีประเทศไทย คาดว่าจะสร้างตัวคูณทวีทางการคลังอยู่ที่ประมาณ 0.4-0.7 เท่า และส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของ GDP ที่ทางการประเมินไว้ที่ 1.2-1.6% ในขณะเดียวกัน นโยบายนี้เป็นมาตรการ Quick-win ที่จะกระุต้นอุปสงค์ภายในประเทศ และความเชื่อมั่นต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ตามการระบุแหล่งที่มาของเงินที่ใช้ในมาตรการนี้ อาจต้องคำนึงผลของการโยกเงินงบประมาณ 2567 ผ่านการจัดสรรเม็ดเงินที่นำมาจากโครงการอื่น รวมถึงผลกระทบจากต้นทุนทางการเงินที่อาจเพิ่มสูงขึ้นตามการเร่งระดมทรัพยากรการเงินของภาครัฐ โดยมองความท้าทายหลักคือการเร่งรัดโครงการนี้ฯ ว่าจะสามารถเกิดขึ้นจริงทั้งการโอนเงินให้กับประชาชนและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการในช่วงไตรมาสที่ 4/2567
นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวจะช่วยหนุนให้กิจกรรมการค้าปลีกรายย่อยเข้าสู่ระบบ ซึ่งจะเป็นแหล่งรายได้ภาษีและที่มาของรายได้รัฐบาลในอนาคต และยังช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการใช้จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ ที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของไทย
อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ภาครัฐออกมาตรการนี้ เนื่องจากการเติบโตเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าศักยภาพมาอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปีผ่านมา เติบโตได้เพียง 1.7% เทียบช่วงเดียวกันกับปี 2565 จากและเมื่อเทียบรายไตรมาส เศรษฐกิจไทยกลับถึงขึ้นติดลบ หรือ หดตัวลง -0.6% ขณะที่ตัวเลขทั้งปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 1.9% ชะลอลงจาก 2.5% ในปี 2565