กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 32.40-32.65 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทอ่อนค่าเร็วช่วงข้ามคืน แม้เลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ออกมาที่ 0.2%MOM ต่ำกว่าที่ตลาดคาด แต่ราคาสินค้าบางกลุ่มสูงขึ้นสะท้อนผลจากมาตรการ tariffs ส่งผลให้ US Treasury yields สูงขึ้น และดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า
GDP ไตรมาส 2 ของจีนออกมาที่ 5.2% สูงกว่าตลาดคาดที่ 5.1% แต่ยอดค้าปลีกชะลอลงที่ 4.8% และราคาบ้านลดลง
นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีจากอินโดนีเซีย 19% ขณะที่อินโดนีเซียจะยกเลิกเก็บภาษีจากสหรัฐและนำเข้าสินค้ามากขึ้น
ด้านนายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เงินบาทวันนี้ อ่อนค่าลง จากระดับปิดวันที่ผ่านมา นับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท(USDTHB) พลิกกลับมาทยอยอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในกรอบ 32.39-32.61 บาทต่อดอลลาร์) ตามการทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด จากเดิมผู้เล่นในตลาดมั่นใจว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้ง ในปีนี้ เป็น เฟดมีโอกาสราว 74% ที่จะลดดอกเบี้ยได้ในปีนี้ ตามรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ เดือนมิถุนายน ที่ออกมาสูงขึ้นสู่ระดับ 2.7% (+0.3%m/m) สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ 2.6% (+0.1%m/m) ทำให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เฟดอาจยังไม่เร่งรีบปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อรอประเมินผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อให้แน่ชัด ซึ่งภาพดังกล่าวก็สอดคล้องกับถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในช่วงคืนที่ผ่านมาเช่นกัน
นอกจากนี้ การปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดยังได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นเข้าใกล้โซน 4.50% ซึ่งการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวลดลงและเป็นอีกปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง
ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท มองกรอบเงินบาทวันนี้ จะอยู่ที่ระดับ 32.45- 32.70 บาทต่อดอลลาร์ แม้เราจะยังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีความเสี่ยงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้ในช่วงนี้ ตามจังหวะการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากทั้งการทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด รวมถึงความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ แต่การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์อาจเป็นไปอย่างจำกัดก่อน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ หากจะทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดเพิ่มเติม จากโอกาสราว 74% ที่เฟดจะลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง ในปีนี้ เหลือ 50% หรือต่ำกว่า อาจจะต้องเห็นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ออกมาสดใสและดีกว่าคาดชัดเจน ซึ่งจะเป็นช่วงต้นเดือนสิงหาคมมากกว่าในช่วงนี้