เงินบาทวันนี้อ่อนค่า ตามการรีบาวด์ขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ และตลาดบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เงินบาทวันนี้ เปิดที่ระดับ 34.38 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 34.30 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.85-34.85 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.25-34.55 บาทต่อดอลลาร์

ซึ่งนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท(USDTHB) พลิกกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง ในลักษณะ Sideways Up (แกว่งตัวในกรอบ 34.24-34.39 บาทต่อดอลลาร์) ตามการรีบาวด์ขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ โดยเฉพาะในช่วงเช้าของวันจันทร์นี้ หลังเงินเยนญี่ปุ่น(JPY) พลิกกลับมาอ่อนค่าลงกลับสู่โซน 150 เยนต่อดอลลาร์ จากที่ในช่วงก่อนหน้าได้แข็งค่าทดสอบโซน 149.50 เยนต่อดอลลาร์ ส่วนราคาทองคำ (XAUUSD) ก็เผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม ทำให้ราคาทองคำย่อตัวลงเข้าใกล้โซน 2,640-2,650 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (คิดเป็นการปรับตัวลงราว -20 ดอลลลาร์ต่อออนซ์) เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าลงบ้าง

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาทประเมินว่า เงินบาทเสี่ยงผันผวนในกรอบกว้าง โดยจะขึ้นกับทิศทางเงินดอลลาร์ รวมถึงราคาทองคำ ที่จะผันผวนไปตามการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด นอกจากนี้ ควรจับตาการเคลื่อนไหวของเงินหยวนจีน (CNY) ที่อาจพอได้แรงหนุนบ้าง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนออกมาสดใส และควรจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเราคาดว่าบรรดานักลงทุนต่างชาติอาจกลับมาซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยได้

ขณะที่ เงินดอลลาร์อาจกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อได้ หากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดลดโอกาสที่เฟดเดินหน้าลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคม อย่างไรก็ดี ทิศทางเงินดอลลาร์ก็อาจขึ้นกับการเคลื่อนไหวของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ซึ่งจะขึ้นกับการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ย BOJ โดยเงินเยนญี่ปุ่นอาจแข็งค่าขึ้น กดดันให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลงได้

สำหรับสัปดาห์นี้ประเมินว่า ควรระวังความเสี่ยงที่เงินบาทอาจผันผวนในกรอบกว้าง ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะ เฟด และ BOJ

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles