เงินบาทวันนี้ ขยับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากแรงหนุนทองคำทยอยปรับตัวขึ้น จากความหวัง เฟดอาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้ในการประชุม FOMC เดือนธ.ค.นี้

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เงินบาทวันนี้ เปิดที่ระดับ 33.82 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 33.88 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท(USDTHB) ได้ทยอยแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ในลักษณะ Sideways Down (กรอบการเคลื่อนไหว 33.80-33.94 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทยังคงได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าตามการทยอยปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ(XAUUSD) เกิน +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เข้าใกล้โซน 2,720 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ซึ่งราคาทองคำยังพอได้แรงหนุนจากความหวังว่า เฟดอาจเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้ในการประชุม FOMC เดือนธันวาคมนี้ ตามรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ เดือนพฤศจิกายน ที่ออกมา +0.3% จากเดือนก่อนหน้า และแม้ว่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลง หลังรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ทว่าเงินดอลลาร์ก็สามารถทยอยรีบาวด์ขึ้นได้ ก่อนที่จะแกว่งตัว Sideways ใกล้ระดับก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI หนุนโดยการทยอยปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ รวมถึงความกังวลต่อแนวโน้มการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ และปริมาณการออกบอนด์ของสหรัฐฯ ในช่วงระยะสั้น

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways หลังผู้เล่นในตลาดคาดหวังแนวโน้มการเดินหน้าลดดอกเบี้ยของเฟดในการประชุม FOMC เดือนธันวาคมอย่างเต็มที่แล้ว (Fully Priced-In) ทำให้ ต้องรอจับตาปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเงินดอลลาร์ ผ่านบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR) หาก ECB เดินหน้าลดดอกเบี้ยตามคาด

อย่างไรก็ดี หาก ECB ลดดอกเบี้ยตามคาด และส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง หลังเศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่องจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่รออยู่ในปีหน้า ก็อาจกดดันให้เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงเล็กน้อย หรืออาจเพียงแค่แกว่งตัว Sideways

นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางเงินเยนญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน หลังในช่วงที่ผ่านมาเงินเยนญี่ปุ่นได้ทยอยอ่อนค่าลง ตามมุมมองผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจคงดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ไปก่อน ขณะเดียวกัน เงินบาทก็อาจเคลื่อนไหวไปตามแนวโน้มเงินหยวนจีน (CNY) และทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อย่าง ทองคำ ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ เงินบาทอาจยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้อย่างชัดเจน จนกว่าจะรับรู้ปัจจัยใหม่ ทำให้โซนแนวต้านของเงินบาทก็ยังอยู่ในช่วง 33.60-33.70 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวต้านยังคงมีโซนที่สำคัญแถว 33.90-34.00 บาทต่อดอลลาร์

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles