นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เงินบาทวันนี้ เปิดที่ระดับ 34.55 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.40-34.80 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ในลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ 34.54- 34.64 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการทยอยปรับตัวสูงขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่เข้าใกล้โซนแนวต้านระยะสั้นแถวโซน 2,670 ดอลลาร์ต่อออนซ์
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์โดยรวมเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในช่วงค่ำวันศุกร์นี้ ตามเวลาประเทศไทย ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ทยอยขายทำกำไรสถานะ Long USD ออกมาบ้าง ก่อนที่จะรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว
อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตามการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างออกมาสนับสนุนเฟดชะลอการลดดอกเบี้ย (โดยเฉพาะ Michelle Bowman และ Jeffrey Schmid) ซึ่งมุมมองดังกล่าวของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดก็มีส่วนหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงปรับตัวขึ้นเล็กน้อย ส่งผลให้ส่วนต่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับ ญี่ปุ่น กว้างมากขึ้น กดดันค่าเงินเยนญี่ปุ่นในช่วงคืนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันบ้าง จากแรงซื้อเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วนหลังเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นใกล้โซนแนวรับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ อีกทั้งราคาน้ำมันดิบก็ปรับตัวขึ้นกว่า +1.2% ในช่วงคืนที่ผ่านมา ทำให้เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมน้ำมันดิบได้
ทั้งนี้ แนวโน้มเงินบาทจะเผชิญความผันผวนในลักษณะ Two-Way Volatility ซึ่งอาจชี้ชะตาแนวโน้มการเคลื่อนไหวของเงินบาทในระยะถัดไปได้ โดยจะขึ้นกับการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หลังรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในคืนนี้ ซึ่งจะเริ่มในช่วง 20.30 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยในกรณีที่ เงินบาททยอยอ่อนค่าลงทะลุโซนแนวต้าน 34.70-34.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้จริง ก็อาจเปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถอ่อนค่าลงต่อทดสอบโซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้
ด้านกลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 34.40-34.60 บาท/ดอลลาร์ ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้น ส่วนหนึ่งตามเงินเยนที่ปรับแข็งค่าหลังเลขค่าจ้างในญี่ปุ่นขยายตัว 3%YOY โดยค่าจ้างฐานขยายตัวสูงสุดในรอบ 32 ปี
เงินเฟ้อจีนเดือนธันวาคมออกมาที่0.1%YOY ตามที่ตลาดคาด โดยเป็นการชะลอลง 4 เดือนติดต่อกัน เป็นผลจากราคาอาหารและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับลดลง ส่งผลให้เงินหยวนอ่อนค่าเล็กน้อย ขณะที่ เงินปอนด์ยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องจากความกังวลเรื่องดุลการคลังอังกฤษ ที่ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสูงขึ้นเร็ว