เงินบาทสัปดาห์นี้จ่อเคลื่อนไหวในกรอบ 33.90-34.70 บาทต่อดอลลาร์ เกาะติดเงินเฟ้อไทยเดือนธ.ค. เงินทุนต่างชาติ เงินหยวนและราคาทอง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เงินบาทอ่อนค่าลง ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ได้แรงหนุนจากการคาดการณ์เรื่องดอกเบี้ยเฟดและผลกระทบจากนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเงินบาทปรับตัวในกรอบแคบๆ ช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนจะพลิกอ่อนค่ากลับมาตามทิศทางการอ่อนค่าของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคและเงินหยวน ซึ่งเผชิญแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากนโยบายการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนถัดไปของสหรัฐฯ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากข้อมูลด้านตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ซึ่งสนับสนุนการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการชะลอจังหวะการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ [จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ลดลง 9,000 ราย ไปอยู่ที่ระดับ 211,000 รายในสัปดาห์ที่ผ่านมา vs. ตลาดคาดที่ 222,000 ราย]

ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องในช่วงท้ายสัปดาห์ไปแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 2 สัปดาห์ที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ สอดคล้องกับสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ

ในวันศุกร์ที่ 3 ม.ค. 2568 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 34.46 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.11 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (27 ธ.ค. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 30 ธ.ค. 2567 – 3 ม.ค. 2568 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทย 1,140 ล้านบาท และ 7,861 ล้านบาท ตามลำดับ

ส่วนในสัปดาห์นี้ (ระหว่างวันที่ 6-10 ม.ค. 2568) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.90-34.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนธ.ค. ของไทย สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ทิศทางเงินหยวนและราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI/ISM ภาคบริการ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนรายงานโดย ADP ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนธ.ค. 2567 ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงานเดือนพ.ย. 2567 บันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 17-18 ธ.ค. 2567 และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขดัชนี PMI ภาคบริการเดือนธ.ค. 2567 ของจีน ยูโรโซน และอังกฤษ อัตราเงินเฟ้อเดือนธ.ค. 2567 ของยูโรโซน รวมถึงสัญญาณเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของนายโดนัลด์ ทรัมป์ด้วยเช่นกัน

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles