ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เงินบาท เคลื่อนไหวในกรอบที่แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยตามจังหวะการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์สอดคล้องกับเงินหยวนและเงินเยน โดยเงินเยนอ่อนค่าผ่านแนว 161.00 เยนต่อดอลลาร์ฯ ไปแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 38 ปีเทียบกับเงินดอลลาร์ฯขณะที่เงินดอลลาร์ฯแข็งค่าขึ้นหลังท่าทีของเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งยังคงมีความกังวลต่อสถานการณ์เงินเฟ้อหนุนการคาดการณ์ของตลาดที่ว่าเฟดไม่น่าจะรีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเร็วๆนี้นอกจากนี้เงินดอลลลาร์ฯยังได้รับแรงหนุนโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเงินยูโรซึ่งมีปัจจัยกดดันจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองในฝรั่งเศส
ทั้งนี้ เงินบาทลดช่วงอ่อนค่าและฟื้นตัวแข็งค่ากลับมาได้บางส่วน โดยน่าจะมีแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก ประกอบกับตลาดยังรอติดตามการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ (PCE/Core PCE Price Indices) อย่างใกล้ชิด
ในวันศุกร์ที่ 28 มิ.ย. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 36.71 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 36.66 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (21 มิ.ย. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 24-28 มิ.ย. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทย 8,770 ล้านบาท และ 6,540 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับสัปดาห์นี้ (1-5 ก.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 36.40-37.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมิ.ย. ของไทย ปัจจัยการเมืองในประเทศ สถานการณ์สกุลเงินในภูมิภาค และถ้อยแถลงของประธานเฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิตและภาคบริการ ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชน และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนมิ.ย. ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนพ.ค. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และบันทึกการประชุมเฟด (11-12 มิ.ย.) นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามการเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษ (4 ก.ค.) ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนมิ.ย. ของจีน ญี่ปุ่น อังกฤษ และยูโรโซน และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมิ.ย. ของยูโรโซนด้วยเช่นกัน