นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เงินบาท วันนี้เปิดที่ระดับ 33.97 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 33.81 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท(USDTHB) ได้เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง เข้าใกล้โซนแนวต้าน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ (กรอบการเคลื่อนไหว 33.79-34.00 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ซึ่งได้แรงหนุนจากทั้งการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เฟดมีโอกาสชะลอการลดดอกเบี้ยในปี 2025 เหลือราว 2 ครั้ง ตามรายงานข้อมูลดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือนพฤศจิกายน ที่ออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ อยู่
นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กอปรกับรายงานข่าวว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจพิจารณาคงดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ ได้กดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่องทะลุระดับ 152.50 เยนต่อดอลลาร์
ขณะเดียวกัน เงินดอลลาร์ก็ได้แรงหนุนบ้าง จากการอ่อนค่าลงเล็กน้อยของเงินยูโร (EUR) หลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) เดินหน้าลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 3.00% ตามคาด พร้อมส่งสัญญาณเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมในปี 2025 ตามภาพเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอลง
ส่วนอัตราเงินเฟ้อก็มีแนวโน้มชะลอลงเข้าสู่เป้าหมายของ ECB และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เงินบาทยังถูกกดดันเพิ่มเติม จากการปรับตัวลงหนักของ ราคาทองคำ(XAUUSD) ราว -40 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ต่างปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ การอ่อนค่าลงของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้างแถวโซนแนวต้าน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ตามแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาทมองว่า จะเคลื่อนไหวในกรอบ 33.90- 34.10 บาทต่อดอลลาร์ โดยการอ่อนค่าลงของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา (ซึ่งเรายอมรับว่า สวนทางกับสิ่งที่เราประเมินไว้) อาจเริ่มชะลอลงบ้างแถวโซนแนวต้าน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากบรรดาผู้เล่นในตลาดอาจทยอยขายเงินดอลลาร์ในโซนดังกล่าว นอกจากนี้ เรามองว่า เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง หากราคาทองคำ (XAUUSD) สามารถรีบาวด์ขึ้นจากโซนแนวรับ 2,680 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนเงินดอลลาร์อาจเผชิญแรงขายทำกำไรจากผู้เล่นในตลาดได้บ้าง หลังดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้โซน 107 จุด และเข้าใกล้จุดสูงสุดของปีนี้ อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดต่างก็คาดหวังแนวโน้มเฟดชะลอการลดดอกเบี้ยในปีหน้าไปพอสมควรแล้ว ทำให้อาจมีความเสี่ยงที่ในสัปดาห์หน้า คาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ยเฟด (Dot Plot) ใหม่ อาจสะท้อนว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจต้องปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด (Repricing Fed’s rate cuts) ซึ่งอาจกดดันทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ได้