นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาท เปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 35.49 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อน ค่าจากปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 35.23 บาท/ดอลลาร์
เงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับค่าเงินภูมิภาคและตลาดโลก เนื่องจากดอลลาร์กลับมาแข็งค่า หลังตัวเลขดัชนี ISM ภาคบริการที่ประกาศเมื่อคืนออกมาดีช่วยให้ตลาดคลายกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯลงได้บ้างแต่ระหว่างวันต้องรอดูว่าจะมีปัจจัยใหม่เรื่องอะไรเข้ามาเพิ่มเติมโดยบาทอ่อนค่าตามภูมิภาคทิศทางช่วงนี้ผันผวนหนักนักลงทุนอยู่ในโหมดหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและปรับพอร์ตลงทุนทำให้ทุกสินทรัพย์เสี่ยงเกิดความผันผวน
ทั้งนี้ ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 35.30 – 35.60 บาท/ดอลลาร์
ด้านนักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ทดสอบโซนแนวต้านสำคัญ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในช่วง 35.15 -35.51 บาทต่อดอลลาร์) หลังเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น ตามการปรับลดความคาดหวังแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด และท่าทีของผู้เล่นในตลาดที่คลายกังวลต่อความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงหนักกว่าคาด จากรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ เดือนกรกฎาคมที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51.4 จุด ตามคาด (จากระดับ 48.8 จุด ในเดือนมิถุนายน) สะท้อนว่าภาคการบริการสหรัฐฯ ได้กลับมาขยายตัวในอัตราเร่งขึ้น
ภาพดังกล่าว ยังได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รีบาวด์ขึ้นเข้าใกล้แนวต้าน 3.80% ส่งผลให้เงินเยนญี่ปุ่น (USDJPY) พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องเกือบแตะระดับ 146 เยนต่อดอลลาร์ จากไม่ถึง 143 เยนต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานข้อมูล ISM PMI ภาคการบริการ
แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทเริ่มมีโอกาสที่จะสามารถพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้บ้าง หลังผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังการลดดอกเบี้ยของเฟดที่เร็วและแรงลงบ้าง หนุนให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะรีบาวด์ขึ้น
นอกจากนี้ ความเสี่ยงการเมืองในประเทศก็อาจเริ่มกดดันบรรยากาศในตลาดการเงินไทย และเพิ่มความเสี่ยงที่นักลงทุนต่างชาติจะทยอยขายสินทรัพย์ไทยออกมาได้บ้าง ในช่วงระยะสั้นนี้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสที่เงินบาทสามารถผันผวนอ่อนค่าลงได้ ขณะเดียวกัน ควรระวังความเสี่ยงจากประเด็นความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจหนุนให้ ตลาดกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ที่อาจมาพร้อมกับการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวขึ้นแรงของราคาน้ำมันดิบ