เงินบาทแข็งโด่กว่า 6% อันดับ 1 ของ 8 ค่าเงินตลาดประเทศเกิดใหม่ แข็งค่ามากสุดในทุกค่าเงินอาเซียน นายกสมาคมส่งออกข้าวไทยหงุดหงิด “ผมไม่รู้ว่าแบงก์ชาติทำอะไร”

เงินบาท แข็งโด่กว่า 6% อันดับ 1 ของ 8 ค่าเงินตลาดประเทศเกิดใหม่ แข็งค่ามากสุดในทุกค่าเงินอาเซียน นายกสมาคมส่งออกข้าวไทยหงุดหงิด “ผมไม่รู้ว่าแบงก์ชาติทำอะไร”

ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน เปิดเผยรายงานความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ทั่วโลก พบว่า ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมถึง 12 กันยายน 2024 ค่าเงินบาทเทียบเงินดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็นสกุลเงินที่ทะยานแข็งค่าขึ้นถึง 6.1% มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของ 8 สกุลเงินในประเทศเกิดใหม่ที่ปรับแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังแข็งค่าขึ้นมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในทุกสกุลเงินของประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย ในขณะที่ มี 3 สกุลเงินในประเทศใหม่ที่ปรับอ่อนค่าลง ได้แก่ เงินเปโซเม็กซิโก ร่วงอ่อนค่ามากที่สุดถึง -3.2% ถัดมาเป็นสกุลไลร่า ประเทศตุรกี อ่อนค่าราว -2.2% และสุดท้ายค่าเงินรูปีประเทศอินเดียอ่อนค่าราว -0.1%

สำหรับสกุลเงินในประเทศเกิดใหม่เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่ปรับแข็งค่าขึ้นในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 1 สิงหาคมถึงวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมามีดังนี้ 1.บาท ไทย 6.2% 2.รูเปี๊ยะ อินโดนีเซีย 5.2% 3.ริงกิต มาเลเซีย 5.1% 4.เปโซ ฟิลิปปินส์ 3.8% 5.แรนด์ แอฟริกาใต้ 2.9% 6.ด่อง เวียดนาม 2.7% 7.วอน เกาหลีใต้ 2.6% และ 8.เรียล บราซิล 2.1%

สาเหตุที่สกุลเงินของประเทศในอาเซียนได้แก่เงินบาท เงินรูเปี๊ยะ อินโดนีเซีย และ เงินริงกิต มาเลเซีย ทะยานแข็งค่าสูงขึ้นในอันดับต้นต้นเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่สองของสามประเทศดังกล่าวนั้นขยายตัวได้โดดเด่น ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจประเทศไทยจะขยายตัวมาเป็นอันดับสุดท้ายใน 6 ชาติชั้นนำอาเซียนก็ตาม ปัจจัยความชัดเจนด้านการเมืองโดยเฉพาะในประเทศไทย หลังจากที่มีนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 และจัดตั้งคณะรัฐมนตรีโดยใช้เวลาไม่นานนัก

นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญที่สุดซึ่งทั่วโลกกำลังเข้าจับตามอง คือการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ที่จะมีขึ้นวันที่ 17 ถึง 18 กันยายนนี้ ทุกฝ่ายคาดการณ์ว่าจะเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี ที่เฟดจะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลง 0.25% หลังจากแนวโน้มของภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐปรับลดลงเข้าสู่เป้าหมายอย่างชัดเจน ท่ามกลางปัญหาการจ้างงาน และอัตราการว่างงานของสหรัฐสหรัฐมีปัญหามากขึ้น

ขณะที่วันที่ 6 ก.ย.2567 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 33.49 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 19 เดือน และหากเทียบกับในช่วง 1 เดือนก่อนหน้านี้ หรือเมื่อวันที่ 6 ส.ค.2567 ซึ่งค่าเงินบาทอยู่ที่ 35.49 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ พบว่าค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นไปประมาณ 5.6% นั้น ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่มีความผันผวนเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ผู้ส่งออกข้าวไทยทำงานได้ด้วยความลำบาก เนื่องจากไม่สามารถตั้งราคาขายได้ อีกทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น ทำให้ผู้ส่งออกต้องเสนอราคาขายข้าวสารในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐสูงขึ้น

ตอนนี้ ถ้าจะเสนอราคา ก็ไม่รู้ว่าจะเสนออย่างไร และราคาที่เสนอก็ต้องสูงกว่าคู่แข่ง เพราะค่าเงินบาทเมื่อ 3 อาทิตย์ที่แล้วกับวันนี้ ต่างกัน 7-8% ถ้าวันนั้นขาย 600 เหรียญฯ วันนี้ต้องขายอย่างน้อย 660 เหรียญ เพราะเงินบาทแข็งค่าขึ้น ถ้าคนอื่นเขาแข็งด้วย ก็ไม่เป็นไร แต่นี่อินเดียเขาอยู่ที่ 83 รูปี/ดอลลาร์สหรัฐ เขาไม่ขยับเลย และถ้าคิดเฉพาะค่าเงิน ของเราจะแพงขึ้น 50-60 เหรียญ ถ้าเป็นข้าวหอมก็ 100 เหรียญ ทำให้เราเสียปรียบ แข่งขันสู้ไม่ได้

นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวว่า ผมไม่รู้ว่าแบงก์ชาติทำอะไร และผมก็ขี้เกียจบ่นแล้ว เราเคยบอกไปแล้วว่า เราไม่ได้อยากให้ค่าเงินแข็งหรืออ่อน แต่เราอยากให้มันมีเสถียรภาพ เราถึงจะทำงานได้ เพราะค่าเงินแบบนี้ ทำให้ราคาข้าวเราผันผวนมากเลย ผู้ส่งออกถ้าขายไป เวลารับเงินก็ขาดทุน วันนั้นเราขายไปที่บาทอยู่ที่ 36 บาท/ดอลลาร์ฯ แล้ววันนี้มารับเงินบาทอยู่ที่ 33 บาท/ดอลลาร์ หายไป 3 บาท มันไม่มีอะไรกำไรมากขึ้นขาดนั้นหรอก” ร.ต.ท.เจริญ กล่าว

ผลกระทบจากค่าเงินบาทที่ผันผวนและแข็งค่าขึ้นมากดังกล่าว จะทำให้จากนี้ไปปริมาณการส่งออกในแต่ละเดือนจะปรับตัวลดลง และเมื่อปริมาณการส่งออกข้าวน้อยลง ก็จะทำให้ราคาข้าวสารและข้าวเปลือกในประเทศจะต้องถูกกดลง เพราะหากราคาข้าวในประเทศไม่ลดลง ราคาข้าวสารที่ส่งออกก็จะแพงมากเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาก็เริ่มมีสัญญาณราคาข้าวสารในประเทศค่อยๆปรับตัวลดลง

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles