นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เงินบาท เปิดที่ระดับ 36.62 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง เล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.59 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.50-36.80 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา ค่าเงินบาทผันผวนในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.53-36.67 บาทต่อดอลลาร์) โดยแม้ว่า เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลง หลังผู้เล่นในตลาดทยอยคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ตามรายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ที่ลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 8.059 ล้านตำแหน่ง แย่กว่าที่ตลาดคาด
อย่างไรก็ตาม เงินบาทกลับไม่ได้แข็งค่าขึ้นมากนัก ท่ามกลางโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำมีจังหวะปรับตัวลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันก่อนหน้า นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็รอทยอยเข้าซื้อเงินบาทในจังหวะแข็งค่า ทำให้โดยรวมเงินบาทยังคงไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องหลุดแนวรับหลัก 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม
แนวโน้มค่าเงินบาทอาจแกว่งตัว sideways ในกรอบ 36.50-36.70 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ในคืนนี้ อย่างไรก็ดี ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าก็ยังคงมีอยู่ อาทิ โฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ในจังหวะย่อตัว โดยเฉพาะ น้ำมันดิบ หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่อเนื่องในช่วงนี้ เช่นเดียวกันกับโฟลว์ธุรกรรมทองคำ ที่ผู้เล่นในตลาดยังคงรอจังหวะทยอยเข้าซื้อในช่วงราคาทองคำย่อตัวลง นอกจากนี้ แรงขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นจากนักลงทุนต่างชาติก็ยังคงมีอยู่ จนกว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นชัดเจน ขณะเดียวกัน หากเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ก็อาจยังติดอยู่ในโซนแนวรับ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าวเช่นกัน
ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP และรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ ที่อาจทำให้ค่าเงินบาทผันผวนแข็งค่าขึ้น หรือ อ่อนค่าลงได้ราว 0.2% โดยเฉลี่ยจากข้อมูลสถิติในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา
โดยเงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน