นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เงินบาท วันนี้เปิด ที่ระดับ 36.21 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.97 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.10-36.30 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 35.93-36.21 บาทต่อดอลลาร์) ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ของตลาดการเงินโดยรวม นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากการอ่อนค่าของเงินยูโร (EUR) ที่ถูกกดดันจากทั้งการปรับตัวลงต่อเนื่องของตลาดหุ้นยุโรปและมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยต่อเนื่องได้ในการประชุมเดือนกันยายนและการประชุมเดือนธันวาคม แม้ว่า ประธาน ECB จะไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนนัก ต่อแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม ECB คืนที่ผ่านมาก็ตาม และนอกเหนือจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์
ค่าเงินบาทยังถูกกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำพลิกกลับมาปรับตัวลดลงกว่า -30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และการปรับตัวขึ้นบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้โดยรวมเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านแรก 36.00-36.10 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้ได้
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาทประเมินว่า การอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินบาทที่ผันผวนอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านที่เราประเมินไว้ในคืนที่ผ่านมานั้น สะท้อนว่า โมเมนตัมฝั่งอ่อนค่าได้กลับมาอีกครั้ง และเงินบาทก็อาจเกิดรูปแบบการกลับตัว จากแข็งค่าเป็นอ่อนค่าลงในระยะสั้นได้ เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในช่วง 20-21 พฤษภาคม ซึ่งหากบรรยากาศในตลาดการเงินยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ก็เป็นไปได้ว่า เงินบาทก็อาจถูกกดดันจากทั้งการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และความเสี่ยงที่ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจไหลออกจากตลาดทุนไทย โดยเฉพาะตลาดหุ้นได้บ้าง นอกจากนี้ เราประเมินว่า ในระยะสั้น ราคาทองคำอาจเข้าสู่ช่วงการพักฐาน (Correction) จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ซึ่งภาพดังกล่าวก็อาจยิ่งกดดันเงินบาทผ่านโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวได้ ทั้งนี้ แนวต้านเงินบาทถัดไปจากโซนที่เราประเมินไว้จะอยู่แถว 36.25-36.35 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเราคาดว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจชะลอลงบ้างในโซนดังกล่าว แต่หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ทะลุโซนดังกล่าว ก็มีโอกาสผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านแถวเส้นค่าเฉลี่ย 100 วัน ในช่วง 36.40-36.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้เช่นกัน ส่วนโซนแนวรับของเงินบาทก็อาจขยับขึ้นมาอยู่ในช่วง 36.05-36.10 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม
ทั้งนี้ เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือสกุลเงินท้องถิ่นซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน