นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สถิติการส่งออก ข้าวไทย เดือนแรกของปี 2567 (จากใบอนุญาตส่งออกข้าวของกรมการค้าต่างประเทศ) พบว่ามีปริมาณ 1,122,358 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.96 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณการขออนุญาตส่งออกข้าวอยู่ที่ 779,654 ตัน
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 กรมฯ ได้จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ข้าวไทยภายใต้คอนเซป “Premium Thai Rice with Authentic Thai Food” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและขยายตลาดข้าวไทย โดยใช้ Soft Power ด้านอาหารไทยในการประชาสัมพันธ์และกระตุ้นให้เกิดค่านิยมในการบริโภคข้าวไทยในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น งานดังกล่าวจัดขึ้น ณ ร้าน Pad Thai ในเมืองมิวนิก เยอรมนี ซึ่งเป็นร้านที่ได้รับตรา “Thai Select” จากกระทรวงพาณิชย์ โดยมีผู้นำเข้า ห้าง/ร้านค้าปลีก สถาบันสอนทำอาหาร ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งสื่อ และ Influencers เข้าร่วมงานกว่า 30 ราย ภายในงานมีการสาธิตการปรุงอาหารไทยพร้อมเสิร์ฟกับข้าวไทย 3 รายการ ได้แก่ ต้มข่าไก่กับข้าวไรซ์เบอร์รี่ ผัดกะเพรากับข้าวหอมมะลิไทย และข้าวเหนียวมะม่วง ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นที่ชื่นชอบของผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก เนื่องจากได้ชมขั้นตอนการทำอาหารไทย และสัมผัสรสชาติอาหารไทยแท้พร้อมรับประทานกับข้าวไทยที่มีความนุ่ม หอม เป็นเอกลักษณ์ และรสชาติอร่อย นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงข้าวไทยชนิดต่างๆ เช่น ข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นข้าวพรีเมี่ยมที่ได้รับความนิยมในตลาดยุโรป รวมถึงคุณลักษณะพิเศษ เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวหอมนิล ข้าวสังข์หยด ข้าว กข43 เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในเยอรมนีที่หันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น
โดยกิจกรรมดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้ Soft Power ของไทยในการผลักดันสินค้าไทยออกสู่ตลาดต่างประเทศ โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้นับว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี เนื่องจากอาหารไทยมีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นที่ยอมรับว่าเป็นหนึ่งในอาหารที่อร่อยที่สุดในโลก ดังนั้น การใช้อาหารไทยมาประชาสัมพันธ์ร่วมกับข้าวไทยจึงสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ ซึ่งกรมฯ จะได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาและขยายส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในตลาดเป้าหมายอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง จีน ต่อไป
นอกจากนี้ กรมการค้าต่างประเทศยังได้เข้าร่วมงานแสดงสินค้าเกษตรอินทรีย์นานาชาติ Biofach 2024 ในระหว่างวันที่ 13 -16 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมีการจัดนิทรรศการเพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับข้าวอินทรีย์ไทยและเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย พร้อมทั้งนำผู้ส่งออกข้าวอินทรีย์ไทยเข้าร่วมงานจำนวน 3 ราย จากจังหวัดยโสธร อำนาจเจริญ และสุรินทร์ โดยทั้ง 3 ราย เป็นวิสาหกิจขนาดเล็กซึ่งเป็นผู้รวบรวมข้าวอินทรีย์จากกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิตข้าวอินทรีย์จนได้รับมาตรฐานอินทรีย์ในระดับสากล ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐาน IFOAM ของสหภาพยุโรป หรือ USDA ของสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาการจัดงานมีผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมคูหาของกรมฯ และสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับข้าวไทยกว่า 1,020 ราย โดยข้าวที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ได้แก่ ข้าวหอมมะลิไทยอินทรีย์ ข้าวหอมมะลิดำอินทรีย์ ข้าวหอมนิลอินทรีย์ ข้าวกล้องอินทรีย์ และปลายข้าวหอมมะลิอินทรีย์ คาดว่าจะมีคำสั่งซื้อภายใน 1 ปี มูลค่ากว่า 79 ล้านบาท ซึ่งการจัดกิจกรรมดังกล่าวจะมีส่วนช่วยในการขยายส่วนแบ่งตลาดข้าวพรีเมียมของไทยในเยอรมมนีและสหภาพยุโรปเพิ่มมากขึ้น