เจ้าสัวธนินท์ ซีพี ชี้ไทยยังมีโอกาสโตมั่นคงด้านอาหาร ดันตั้งกองทุนพัฒนาสินค้าเกษตร

110
0
Share:
เจ้าสัวธนินท์ ซีพี ชี้ไทยยังมีโอกาสโตมั่นคงด้านอาหาร ดันตั้งกองทุนพัฒนาสินค้าเกษตร

นายธนินท์ เจียรวนนท์ประธานอาวุโส บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เปิดเผยในการบรรยายพิเศษ เรื่อง “โอกาสประเทศไทยกับความมั่นคงทางอาหาร “ ในงาน THACCA SPLASH:Soft Power Forum 2024 หรืองานซอฟต์พาวเวอร์ฟอรัมนานาชาติ ที่จัดขึ้นครั้งแรกของ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่า ประเทศไทยเต็มไปด้วยโอกาสในด้านความมั่นคงทางด้านอาหาร โดยเฉพาะในช่วงหลังสถานการณ์การระบาดของโรคคลี่คลาย และได้พรรคเพื่อไทยมาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเชื่อว่าจะทำเศรษฐกิจรุ่งเรืองและประชาชนอยู่ดีกินดี

ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานคือภาคการเกษตรและอาหาร เป็นตัวขับเคลื่อน ทั้งพืช สัตว์ และประมง โดยในส่วนของพืชนอกจากข้าว พืชสวน พืชไร่ แล้ว ที่น่าสนใจคือ สมุนไพร ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมาก ในประเทศไทยมีสมุนไพรจำนวนมาก แต่ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างจริงจัง โดยสมุนไพร จะสอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งปัจจุบันและอนาคตที่ต้องการทานอาหารที่ปลอดภัยและเป็นยารักษาโลก ที่ทางซีพี ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มอย่างหลากหลาย เช่น กลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน กลุ่มคอเลสเตอรอลสูง เป็นต้น ดังนั้นสมุนไพรจึงมีความสำคัญและรัฐบาลควรให้การสนับสนุน

ทั้งนี้ อยากให้รัฐบาลสนับสนุนการปลูกถั่วเหลือง และทุเรียน โดยถั่วเหลืองเพื่อใช้เป็นโปรตีนทดแทนเนื้อสัตว์ โดยเป็นการลงทุนที่ง่ายและต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการใช้เทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และคาดว่าอีกนานกว่าจะเข้าถึง แต่การปลูกถั่วเหลืองในประเทศไทย ยังมีอุปสรรค เนื่องจากต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช จำนวนมาก จากระยะเวลาการปลูก 4 เดือน ต้องพ่นยาฆ่าแมลงถึง 4 ครั้ง ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง และอันตรายต่อตัวเกษตรกรเอง

ดังนั้นรัฐบาลควรเปิดให้ใช้ การตัดต่อพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอ จะทำให้การปลูกถั่วเหลืองของไทยทันต่อสถานการณ์ ซึ่งในสหรัฐอเมริกาก็ใช้วิธีการนี้

โดยเฉพาะทุเรียน มั่นใจว่าเป็นพืชที่มีโอกาสเติบโตสูงมาก แม้ว่าประเทศเพื่อนบ้านของไทยเช่น เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา จะขยายพื้นที่ปลูก แต่ก็ไม่เพียงพอกับความต้องการโดยเฉพาะตลาดจีนที่มีประชากรกว่า 1,400 ล้านคน ปัจจุบันมีอัตรารับประทานทุเรียนกันน้อยมาก ดังนั้นรัฐบาลต้องให้การสนับสนุนเทคโนโลยีการปลูก พันธุ์ที่เหมาะสม ให้สมารถปลูกได้หลายพื้นที่ เทคโนโลยีการจัดเก็บ หลังการเก็บเกี่ยว การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า คาดว่าอุตสาหกรรมทุเรียนจะไปได้อีกยาว และอาจจะดีกว่าการปลูกข้าว

นายธนินท์ เสนอให้รัฐบาลแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรค จัดตั้งกองทุนขึ้นมาสนับสนุนการพัฒนาสินค้าเกษตร เพื่อรับความเสี่ยงแทนการกู้เงินจากธนาคาร วิธีการนี้จะทำให้การพัฒนาภาคการเกษตรเป็นได้เร็วขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาแหล่งน้ำระบบชลประทาน คิดค้นการสร้างบึงขนาดใหญ่สำหรับเก็บน้ำฝน บริหารจัดการทำระบบโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ เลี้ยงปลา ปล่อยน้ำชลประทานในช่วงแล้ง โดยบึงขนาดใหญ่นี้ยังช่วยลดผลกระทบเรื่องน้ำท่วมได้ด้วย

ซึ่งจากผลการศึกษา การมีระบบชลประทานจะส่งผลให้ผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นได้ 5 เท่าตัว รัฐบาลต้องหาทางกระจายน้ำให้ถึงฟาร์มเกษตรกร ลงทุนเรื่องนี้ให้มากขึ้น ให้มีมากพอกับการตัดถนน ที่ปัจจุบันถนนมีมากพอแล้ว คิดว่าจะคุ้มกับการลงทุนและมีกำไรดีเท่าๆกับการขายไฟฟ้า หากรัฐบาลประสบผลสำเร็จเทคโนโลยีทางด้านน้ำ สามารถใช้เป็นโมเดลในการลงทุนในต่างประเทศ ที่จะสร้างประโยชน์ให้กับไทยอย่างมหาศาล

สำหรับข้าว ปัจจุบันไทยส่งออกในลักษณะของสินค้าปฐมภูมิ แต่เทรนด์ในอนาคต ผู้บริโภคให้ความสนใจการรับประทานข้าวสุก เนื่องจากสะดวกเหมือนการซื้อขนมปังในร้านและรับประทานได้ทันที ไม่ต้องทำมาแปรรูปอีกครั้ง ดังนั้นรัฐบาลควรคิดต่อยอดจากเรื่องนี้ ในเชิงอุตสาหกรรม และโลจิสติกส์

นายธนินท์ ยังกล่าวด้วยว่าส่วนตัวพร้อมที่จะเป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐบาลในทุกด้าน ซึ่งรัฐควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร หรือพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อสร้างคนที่มีความพร้อม กรณีที่สร้างไม่ทันก็ควนเปิดโอกาสให้แรงงานต่างชาติที่มีความพร้อมเข้ามาทำงานในไทย ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยี การสร้างAI