เด็กจบมหาวิทยาลัยตกงานมากที่สุดในทุกวุฒิการศึกษา ตะลึงคำเดียว “ลาออก” ที่ทำให้ไม่มีงานทำ

114
0
Share:
เด็กจบมหาวิทยาลัย ตกงาน มากที่สุดในทุกวุฒิการศึกษา ตะลึงคำเดียว “ลาออก” ที่ทำให้ไม่มีงานทำ ว่างงาน

ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ในไตรมาส 1 ปี 2567 พบว่า ภาวะการว่างงานเมื่อแบ่งตามระดับวุฒิการศึกษา พบว่า ผู้ที่เรียนจบในระดับอุดมศึกษาเป็นผู้ที่ว่างงานมากที่สุด โดยมีอัตรา 1.67% อันดับ 2 มัธยมปลาย 1.28% อันดับ 3 มัธยมต้น 1.12% อันดับ 4 ประถม 0.58% อันดับ 5 การศึกษาอื่น ๆ 0.47% อันดับ 6 ไม่มีการศึกษา 0.32% อันดับ 7 ต่ำกว่าระดับประถม 0.13% และสุดท้าย ไม่ทราบระดับการศึกษา 0.04%

สาเหตุออกจากงาน หรือหยุดทำงาน พบว่า มีมากถึง 59.25% ระบุว่า ลาออก รองลงมา 16.16% คือ เลิก/หยุด/ปิดกิจการ มี 13.15% หมดสัญญาจ้างงาน มี 5.47% ถูกให้ออก/ไล่ออก/ปลดออก 5.47% และอื่น ๆ 4.71%

สถานการณ์แรงงานในไตรมาส 1 ปี 2567 ปรากฎว่า ประชากรวัยแรงงานจำนวน 59.1 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 40.2 ล้านคน หรือ 68% ของประชากรวัยแรงงาน ที่เหลือเป็นผู้อยู่นอกกำลังแรงงาน โดยเป็นผู้มีงานทำทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการลดลงของผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรม การลดลงของผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรม ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงขึ้น

สถานการณ์การว่างงาน ในไตรมาส 1 ปีนี้ พบว่าดีขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2566 มีอัตราการว่างงานเหลือเพียง 1% หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงานประมาณ 410,000 คน ส่วนปัญหาการว่างงานระยะยาว หรือผู้ที่ว่างงานมากกว่า 1 ปีขึ้นไปมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นเช่นกัน โดยลดลง 4.9% คิดเป็นจำนวนผู้ว่างงานระยะยาวประมาณ 79,000 คน

สำหรับประเด็นที่สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ติดตามมาอย่างต่อเนื่อง คือ ผู้เสมือนว่างงาน หรือผู้ที่มีชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์น้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด พบว่าในไตรมาส 1 ปีนี้ มีผู้เสมือนว่างงานมีประมาณ 3.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้าประมาณ 390,000 คน