นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ กล่าวว่า ตอนนี้มองว่าราคาทองจะไปถึง 42,000 บาท คงใช้เวลาอีกไม่นาน แล้วถ้าธนาคารกลางสหรัฐ ปรับลดดอกเบี้ย ทองก็จะขึ้นอีก ก็น่าจะไปถึง 45,000 บาท พอเปิดตลาดในวันนี้ 8 เมษายน ราคากลับปรับขึ้นต่อเนื่อง โดยเช้านี้ต้องปรับราคาถึง 9 ครั้ง ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากการเข้าซื้อทองคำของธนาคารกลางต่าง ๆ รวมถึงมีข่าวว่าธนาคารกลางบางประเทศก็จะหันมาถือครองทองคำเป็นทุนสำรองมากขึ้น แทนเงินดอลลาร์อีกด้วย เลยยิ่งหนุนให้ทองคำปรับขึ้นไม่หยุด
สมาคมค้าทองคำประกาศราคาขายทองคำในประเทศไทย วันนี้ 8 เมษายน 2567 ครั้งที่ 15 เมื่อเวลา 11.41 น. -50 บาท รวมสุทธิเพิ่มขึ้น +350 บาท ทำให้ราคาทองคำแท่งรับซื้อ 40,500 บาท ราคาขายออก 40,600 บาท ด้านทองรูปพรรณรับซื้อ 39,764.68 บาท ราคาขายออก 41,100 บาท นับเป็นปรากฏการณ์ที่เหนือความคาดหมายครั้งประวัติศาสตร์ที่สมาคมค้าทองคำประกาศปรับราคาทองคำถึง 10 ครั้งภายในเวลา 60 นาที หรือครบ 1 ชั่วโมง หรือนับตั้งแต่เปิดตลาดครั้งแรกเมื่อเวลา 9.07 น.
ส่งผลทำสถิติราคาทองคำสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ในรอบที่ 24 ตั้งแต่ต้นปีนี้ ทำสถิติราคาสูงสุดระหว่างเป็นประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ นับตั้งแต่ต้นปีนี้มาถึงวันที่ 8 เมษายน 2567 ราคทองคำในไทยทะยานขึ้น +6,700 บาท/บาททองคำ หรือทะยานขึ้น +19.32%
ด้านราคาทองคำส่งมอบทันที หรือ Gold Spot ที่สิงคโปร์ เคลื่อนไหวที่ 2,342 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ พุ่งขึ้น +27 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ส่วนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐในตลาดต่างประเทศเคลื่อนไหวที่ระดับ 36.61 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ กลับแข็งค่าขึ้น 6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับสถิติราคาทองคำในไทยสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ในเดือนมีนาคม 2567 พบว่า ในสัปดาห์ที่ 1 ของมีนาคม ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม ปรากฏว่า ราคาทองคำในไทยทำสถิติราคาปิดเป็นประวัติศาสตร์ถึง 4 ครั้ง ได้แก่ วันที่ 4 (แท่ง 35,200 รูปพรรณ 35,800), 5 (แท่ง 35,900 รูปพรรณ 36,500), 7 (แท่ง 36,250 รูปพรรณ 36,850) และ 9 มีนาคม (แท่ง 36,400 รูปพรรณ 37,000) มาถึงสัปดาห์ที่ 2 ของมีนาคม ทำสถิติ 4 ครั้ง เริ่มจากวันที่ 11 (แท่ง 36,550 รูปพรรณ 37,050) วันที่ 12 (แท่ง 36,650 รูปพรรณ 37,150) วันที่ 14 (แท่ง 36,700 รูปพรรณ 37,200) วันที่ 15 (แท่ง 36,750 รูปพรรณ 37,250) และมาถึงสัปดาห์ที่ 3 ทำสถิติ 2 ครั้ง วันที่ 20 (แท่ง 36,850 รูปพรรณ 37,350) วันที่ 21 (แท่ง 37,650 รูปพรรณ 38,150) และในสัปดาห์สุดท้ายของมีนาคม วันที่ 27 (แท่ง 37,700 รูปพรรณ 38,200) วันที่ 28 (แท่ง 37,950 รูปพรรณ 38,450) วันที่ 29 (แท่ง 38,550 รูปพรรณ 39,050)
เดือนเมษายน 2567 ทำสถิติราคาปิดสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ 6 ครั้ง ดังนี้ วันที่ 1 (แท่ง 38,900 รูปพรรณ 39,400) วันที่ 2 (แท่ง 39,250 รูปพรรณ 39,750) วันที่ 3 (แท่ง 39,550 รูปพรรณ 40,050) วันที่ 4 (แท่ง 39,850 รูปพรรณ 40,350) และวันที่ 6 (แท่ง 40,250 รูปพรรณ 40,750)