เปิดรายชื่อ 5 บริษัท ยื่นขอสิทธิสัมปทานปิโตรเลียมบนบก ครั้งที่ 25 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ คาดคัดเลือกผู้ชนะภายใน ธ.ค.68  ก่อนเสนอ ครม. พิจารณา

นายวรากร พรหโมบล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ภายหลังจากประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การให้ยื่นขอ สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจบนบก (ครั้งที่ 25) ภายใต้ระบบสัมปทาน ได้เปิดรับข้อเสนอจากบริษัทผู้ประกอบการ ด้านปิโตรเลียมในการเข้าร่วมขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม  บนบก ครั้งที่ 25 ระหว่างวันที่ 1 – 16 กรกฎาคม 2568 โดยผลของการยื่นขอสิทธิฯ ครั้งนี้ มีจำนวน 8 คำขอและมีผู้ที่ยื่นขอสิทธิฯ จำนวน 5 ราย ได้แก่ 

1.บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จำนวน  3 คำขอ 

2.แพน โอเรียนท์ เอ็นเนอยี่ (สยาม) ลิมิเต็ด และ CanAsia Energy Corp.   จำนวน 1 คำขอ

3.บริษัท จีโอเมคคานิคอล เซอร์วิสเซส จำกัด  จำนวน 1 คำขอ

4.อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด  จำนวน 1 คำขอ

5.บริษัท ยูเอซี ยูทิลิตีส์ จำกัด  จำนวน 2 คำขอ

ทั้งนี้ ขั้นตอนการดำเนินการเปิดให้ยื่นขอสิทธิฯ ดังกล่าว ได้มีการเผยแพร่ประกาศเชิญชวนผ่านทางเว็บไซต์กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยบริษัทที่สนใจสามารถดาวน์โหลดประกาศเชิญชวนและเงื่อนไขต่าง ๆ ได้จากทั่วโลก และเปิดห้อง Data room ให้บริษัทผู้สนใจเข้าศึกษาข้อมูล ในการจัดทำข้อเสนอต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ พร้อมทั้งจัดสัมมนา เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลรวมทั้งแนวทาง ข้อกำหนดต่าง ๆ เกี่ยวกับการ ยื่นขอสิทธิฯ โดยหลังจากกรมได้รายชื่อผู้ยื่นขอสิทธิฯ แล้ว จะพิจารณา และประเมินข้อเสนอของบริษัทฯ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด อย่างรอบคอบ โปร่งใส และเป็นธรรม โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน เดือนธันวาคม 2568 หลังจากนั้นจะนำเสนอผลการคัดเลือกต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอนุมัติ และเมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะดำเนินการประกาศผลผู้ชนะ และลงนามในสัมปทานต่อไป

“กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะพิจารณาและประเมินข้อเสนอจากบริษัทที่ยื่นขอสัมปทานอย่างรอบคอบ ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ชัดเจน โปร่งใส และเป็นธรรม การที่มีบริษัทชั้นนำทั้งในและต่างประเทศให้ความสนใจเข้าร่วมครั้งนี้ ถือเป็นสัญญาณที่ดีซึ่งจะส่งผลเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมสำรวจและผลิต

ปิโตรเลียมของไทย รวมถึงภาคการลงทุนในธุรกิจต่อเนื่องต่าง ๆ  เนื่องจากไม่ได้มีการเปิดให้ขอยื่นสัมปทานในพื้นที่ใหม่บนบกมาตั้งแต่ปี 2550 นับเป็นโอกาสสำคัญในการค้นพบแหล่งพลังงานภายในประเทศที่คาดว่าจะมีศักยภาพอยู่ การดำเนินการครั้งนี้ ไม่เพียงช่วยเพิ่มความมั่นคง ด้านพลังงานให้กับประเทศแต่ยังมีส่วนสำคัญในการลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน สร้างรายได้และการจ้างงานในพื้นที่ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ประชาชน ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของประเทศอย่างสูงสุดและยั่งยืน อันเป็นการวางรากฐานที่แข็งแรงให้กับระบบพลังงานของไทยในระยะยาวต่อไป”

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles