นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และเป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษา ให้กับคณะเจรจาภาษีการและการค้า หรือทีมไทยแลนด์ เปิดเผยว่า ข้อเสนอชุดใหม่ซึ่งเป็นครั้งที่สามที่กำลังเปิดการเจรจากับฝ่ายรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในระบบออนไลน์ขณะนี้จะนำเสนอ การลดอัตราภาษีเป็น 0% ให้กับรายการสินค้าเพิ่มขึ้นจากข้อเสนอเดิมที่ 60% เป็น 90% ของจำนวนรายการสินค้าของสหรัฐอเมริกา รวมถึงการตัดลดมาตรการในรูปแบบที่ไม่ใช่ภาษีกับสินค้าของสหรัฐอเมริกา ดังนั้น เมื่อรวมทั้ง 2 อย่างเข้าด้วยกันจะมีสินค้าของสหรัฐอเมริกาที่ได้รับการเสนอให้ตัดลดรวมกันถึง 10,000 รายการ
นอกจากนี้ข้อเสนอใหม่ซึ่งเป็นข้อเสนอครั้งที่สามนี้จะส่งผลให้ มูลค่าการเกินดุลการค้าของประเทศไทยที่มีต่อสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันที่ 46,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า นั้น จะลดลงได้ถึง 70% ใช้ระยะเวลาภายใน 3 ปี นอกจากนี้จะทำให้เกิดการสมดุลการค้าของทั้งสองประเทศเร็วขึ้นกว่าเดิมเป็นภายในระยะเวลาห้าปีจากเดิมที่จะใช้เวลานาน 7 ถึง 8 ปี
นอกจากนี้ ข้อเสนออื่นๆในการเจรจารอบที่ 3 นี้ ยังรวมถึง รัฐบาลไทยเสนอไม่เก็บภาษีสำหรับบริการด้านดิจิตอลของสหรัฐอเมริกา ซึ่งตั้งอยู่และดำเนินงานภายในประเทศไทย ข้อเสนอในการสั่งซื้อสินค้าพลังงานได้แก่ก๊าซธรรมชาติแอลเอ็นจี การสั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้ง และการสั่งซื้อสินค้าหลักสำคัญด้านอาหาร และเกษตร ซึ่งได้แก่ ถั่วเหลือง ข้าวโพดข้าวบาร์เลย์
ราคาอาหารที่ถูก และผลิตภัณฑ์จากฟาร์มของประเทศสหรัฐอเมริกา ถูกคาดว่าจะสามารถทำให้ลดต้นทุนให้กับอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ของประเทศไทย ต้นทุนที่ถูกลงหรือลดต่ำลงของอุตสาหกรรมอาหารเลี้ยงสัตว์ ย่อมมีผลต่อการเพิ่มผลผลิตให้กับอุตสาหกรรมปศุสัตว์ในประเทศไทย อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป รวมถึงห่วงโซ่การผลิต
รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวต่อไปว่า จากข้อเสนอใหม่ในครั้งนี้คาดหวังว่าอัตราภาษีต่างตอบแทน หรือ Reciprocal Tariffs ที่สหรัฐอเมริกากำหนดไว้ที่ 36% กับไทย อาจลดลงเหลือที่ 18% ถึง 20% สำหรับข้อเสนอใหม่ที่ทีมไทยแลนด์กำลังเจรจาในคืนวันนี้โดยส่วนตัวมองว่ามีเนื้อหาสาระที่แข็งแรง และเป็นไปได้จริงในทางปฏิบัติมากขึ้น
ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาลไทยได้นำเสนอใหม่ในครั้งนี้มากกว่าข้อตกลงของประเทศเวียดนามและอินโดนีเซียที่ ที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศความสำเร็จในการเจรจากับทั้งสองประเทศดังกล่าวไปก่อนหน้านี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสินค้า ประเทศไทยจึงมีศักยภาพในการใช้สินค้าของสหรัฐอเมริกาจำนวนมากมาผลิตเป็นสินค้าที่ทำให้ประเทศไทยส่งออกไปได้