ศูนย์วิจัย SCB EIC ซึ่งอยู่ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัญหาหลักของการส่งออกไทยมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคการผลิตในประเทศที่ไม่ค่อยตอบโจทย์สินค้าใหม่ๆ คำถามสำคัญคือ อะไรเป็นสาเหตุทำให้ปัญหาเชิงโครงสร้างภาคการผลิตของไทยมาถึงจุดนี้? SCB EIC มองว่าสาเหตุหลักมาจากทักษะแรงงานไทยและการลงทุนจากต่างชาติที่ลดลง :
1) แรงงานสูงวัยและทักษะต่ำ : ประเทศไทยกำลังเผชิญสังคมผู้สูงอายุ 22.7% จากประชากรทั้งหมดในปี 2566 (อายุ 60 ปีขึ้นไป) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน รวมถึงปัญหาแรงงานขาดทักษะที่จำเป็น โดยเฉพาะทักษะเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งมีความสำคัญต่อการผลิตสินค้าและการแข่งขันในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปัญหานี้ทำให้การผลิตสินค้าเทคโนโลยีของไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับเทคโนโลยีขั้นกลาง และการพัฒนาสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงจึงเกิดขึ้นค่อนข้างช้า เนื่องจากเพิ่มศักยภาพแรงงานไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง
2) สัดส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ลดลง: FDI เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยได้รับเทคโนโลยีใหม่ ๆ และทันสมัย เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและการส่งออก รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในไทยลดลงมาก จากที่เคยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางหลักในอาเซียน ไทยกลับตกอันดับมาเรื่อยๆ อยู่อันดับ 7 ในปี 2566 แย่กว่าในปี 2543 2553 และ 2562 ที่อันดับ 3, 3, และ 6 ตามลำดับ เสียอีก (ข้อมูลจาก World Bank)
สาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก (1) ทักษะแรงงานไทยไม่สูงและสัดส่วนแรงงานสูงวัยยังมีมากที่สุดในอาเซียน (2) ไทยขาดการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศสำคัญๆ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม ได้เปรียบจากการมีข้อตกลง FTA กับสหภาพยุโรปและการเข้าร่วม CPTPP ทำให้เข้าถึงตลาดสำคัญในโลกได้ง่ายขึ้น (3) การเมืองไทยมีความไม่แน่นอนสูง (4) นโยบายเศรษฐกิจระยะยาวขาดความชัดเจนและความต่อเนื่อง นักลงทุนไทยและต่างประเทศขาดความมั่นใจที่จะลงทุนวิจัยและพัฒนา (R&D) ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เนื่องจากเป็นการลงทุนสูงและใช้เวลากว่าจะเห็นผล และ (5) กฎระเบียบภาครัฐซับซ้อน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติเลือกลงทุนในประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองและนโยบายและสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการลงทุนดีกว่า