‘เผ่าภูมิ’ จี้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยให้สอดคล้องต่างชาติ ชี้แทรกแซงเงินบาทอย่างเดียวคงไม่พอ ช่วยแก้บาทแข็งค่าได้ปลายเหตุ มองระดับเหมาะสมควรอยู่ที่ 34 บาท/ดอลลาร์

'เผ่าภูมิ' จี้แบงก์ชาติลด ดอกเบี้ย ให้สอดคล้องต่างชาติ ชี้แทรกแซง เงินบาท อย่างเดียวคงไม่พอ ช่วยแก้บาทแข็งค่าได้ปลายเหตุ มองระดับเหมาะสมควรอยู่ที่ 34 บาท/ดอลลาร์

วานนี้ (1 ต.ค. 67) นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่แบงก์ชาติเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทว่าสถานการณ์ความผันผวนของค่าเงินบาทในขณะนี้ การแก้ไขด้วยการแทรกแซงค่าเงินบาทอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะหากไปดูที่ต้นตอ จะพบว่าการแข็งค่าของเงินบาทเกิดจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายการเงินของชาติมหาอำนาจ จนส่งผลให้เกิดภาวะเงินทุนไหลเข้าจนทำให้เกิดการแข็งค่าของเงินบาท

โดยค่าเงินบาทที่เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันควรอยู่ที่ระดับ 34 บาทกว่าๆ ต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ประกอบ ทั้งความเหมาะสม และสอดคล้องกับภาวะค่าเงินของเพื่อนบ้าน และประเทศคู่ค้า แต่ในภาพรวมต้องยอมรับว่าค่าเงินบาทที่เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจและผู้ประกอบการในแต่ละช่วงเวลามีความแตกต่างกัน ก็ต้องมาพิจารณาปัจจัยประกอบในแต่ละช่วงเวลาว่าเป็นอย่างไร

ส่วนตัวไม่อยากให้หยิบประเด็นเล็กๆ มาคุยกัน แต่อยากให้มองภาพรวมว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ และการที่ค่าเงินสูงกว่าคนอื่น นั่นหมายความว่าสินค้าของเราจะมีความสามารถในการแข่งขันที่ต่ำลงถือเป็นข้อด้อย และหน่วยงานที่รับผิดชอบควรพิจารณาเรื่องนี้

สำหรับประเด็นเรื่องส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบาย กับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินฝากนั้น ก็เป็นอีกปัญหาที่มองว่าเป็นหน้าที่ของ ธปท.ที่จะต้องเร่งแก้ไข เพราะว่าเป็นภาวะความเดือดร้อนของประชาชน และสามารถมองได้ว่าเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันการเงินที่เข้มแข็งอยู่แล้ว ดังนั้นจึงควรจะพิจารณาในมิติของการเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการปล่อยสินเชื่อ เพื่อให้สภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ในอัตราที่ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกิจได้ ตรงนี้จะเป็นประโยชน์มากกว่า โดยกระทรวงการคลังต้องหารือกับ ธปท. และธนาคารพาณิชยเกี่ยวกับเรื่องนี้

ด้านนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถุง การหารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยว่าต้องหารือหลายเรื่อง และมีการเตรียมข้อมูลวิธีการก็มีทั้งการยกหูโทรศัพท์พูดคุย หรือพบปะพูดคุยกันโดยตรง ซึ่งได้มีการพูดคุยกันไปบ้างแล้ว

ส่วนในวันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคมนี้ จะไปร่วมงานหนึ่ง และมีผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าร่วมด้วย อาจจะมีโอกาสได้พูดคุยโดยตรงหรือไม่ ส่วนตัวไม่แน่ใจว่าจะได้คุยไหม แต่ตนเองไปงานแน่นอน อย่างไรก็ตามข้อสรุปเรื่องนโยบายการเงินที่จะพูดคุยกันนั้นน่าจะเป็นเดือนนี้

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles