นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงคลังอยู่ระหว่างหารือรายละเอียดของการทบทวนกรอบ เงินเฟ้อ ในปัจจุบันว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ โดยหากได้ข้อสรุปจะเร่งหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาความชัดเจนเกี่ยวกับการกำหนดกรอบอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งกระบวนการในการหารือทั้งหมดจะต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด โดยเบื้องต้นมี 2 ทางเลือก คือ 1. ใช้กรอบเงินเป้ดในรูปแบบเดิม ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 1-3% ส่วนจะเพิ่มหรือจะลดลงหรือไม่ยังอยู่ระหว่างพิจารณา และ 2. ใช้ในลักษณะค่ากลางเหมือนในบางประเทศ เช่น ค่ากลางที่ 2% บวกลบ 0.5%
ซึ่งอยากเห็นเงินเฟ้อที่ไม่ต่ำเกินไป หากถามความเห็นส่วนตัวก็ยังมองว่าเงินเฟ้อต่ำเกินไป ไม่ควรจะเป็นกรอบล่างที่ 1% เพราะสะท้อนว่าเศรษฐกิจไม่เคลื่อนตัว เศรษฐกิจหนืด คนไม่ใช้จ่าย เมื่อคนไม่ใช่จ่าย ไม่ซื้อของ ราคาสินค้าก็ไม่ขึ้น การที่เงินเฟ้ออยู่ระดับ 1% บวกลบ หมายความว่าเศรษฐกิจฝืด เศรษฐกิจหนืด แต่อยากเห็นเงินเฟ้อที่สูงกว่านี้ อัตราเงินเฟ้อที่เริ่มขยับขึ้นตอนนี้ก็สอดคล้องกับที่เราเหยียบคันเร่งทางการคลัง ถ้าหากคลังไม่เหยียบคันเร่งผ่านการออกมาตรการปัจจุบันผมว่าเราคงเห็นอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ราว 0.3-0.4% เท่านั้น ทั้งนี้คาดหวังว่าถ้าจะให้ง่ายกว่านี้ หากมาตรการทางการเงินเข้ามาช่วยกันก็จะทำให้อัตราเงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้เร็วขึ้น นั่นหมายถึงภาวะความกินดีอยู่ดีของประชาชน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้จะเริ่มเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อเริ่มปรับสูงขึ้น จากราคาน้ำมัน–อาหารที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่ามาจากความพยายามของมาตรการทางการคลังเป็นหลัก โดยทุกฝ่ายจะเห็นว่ารัฐบาลพยายามใส่มาตรการทางการคลังเข้าไปและเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากมองว่าเงินเฟ้อยังต่ำกว่ากรอบ เศรษฐกิจหนืด
โดยสิ่งที่กระทรวงคลังเร่งดำเนินการ คือ การอัดสินเชื่อเท่าที่จะทำได้ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งยังมีกำลังน้อยมากเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ ผ่านโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) โดยธนาคารออมสิน วงเงิน 1 แสนล้านบาท, มาตรการ PGS11 วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะมีเพิ่มอีก, มาตรการสินเชื่ออื่น ๆ รวมถึงมาตรการทางภาษี มาตรการสนับสนุนการลงทุน ซึ่งกระทรวงการคลังมองว่าเป็นหน้าที่ในการขับเคลื่อนผ่านกลไกเหล่านี้เพื่อให้เงินเฟ้อขยับขึ้น
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า สิ่งที่กระทรวงคลังอยากเห็นหลังจากนี้ คือ ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการทางการเงินและภาคส่วนอื่น ๆ ไม่ได้เจาะจงแค่ ธปท. แต่รวมไปถึงภาคส่วนอื่นๆที่มีหน้าที่ร่วมกันผลักดันเศรษฐกิจต้องมาตกลงร่วมกันซึ่งกรอบเงินเฟ้อสำคัญแต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการมีกรอบเงินเฟ้อแล้วยังไม่ปฏิบัติตามไม่ว่าจะเป็นมาตรการทางการเงินมาตรการทางการคลังต้องมีหน้าที่ผลักให้เงินเฟ้อเข้ากรอบเป้าหมาย