ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากการประชุม FOMC วันที่ 6-7 พ.ย. ที่ผ่านมา เฟดมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จากระดับ 4.75-5.00% สู่ระดับ 4.50-4.75% เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการจ้างงานสูงสุดและเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่อัตรา 2% ในระยะยาว ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอน ขณะเดียวกันเฟดจะยังคงลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ และหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Mortgage-Backed Security: MBS) ต่อไป
ทั้งนี้ เฟดมองผลการเลือกตั้งไม่มีผลต่อทิศทางนโยบายการเงินในระยะสั้น และ ณ ปัจจุบันยังไม่มีความกังวลว่าทิศทางเงินเฟ้อจะเร่งสูงขึ้นจากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ในแถลงการครั้งนี้ เฟดมีการตัดข้อความว่า “คณะกรรมการมีความมั่นใจมากขึ้นว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงสู่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน” ออกไป โดยเฟดมองว่าเงินเฟ้ออาจเร่งสูงขึ้นในช่วงที่เหลือของปีจากปัจจัยฐานต่ำในช่วงปลายปี 2023 แต่อัตราเงินเฟ้อในช่วงต้นปี 2025 คาดว่าจะกลับมาชะลอลงและแนวโน้มเงินเฟ้อในภาพรวมยังคงลดลงสู่เป้าหมาย
อย่างไรก็ดี ตลาดมองโอกาสที่เฟดจะหยุดจังหวะการลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธ.ค. 2024 มีมากขึ้น โดยจากข้อมูล CME FedWatch Tool (7 พ.ย. ณ 9:00 น. ตามเวลาสหรัฐฯ Central Time) ตลาดมองโอกาสเฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนธ.ค. 2024 อยู่ที่ 29% และมองโอกาสเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25 bps อยู่ที่ 71% ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการปรับลดดอกเบี้ยในระยะข้างหน้าคงขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ออกมาเป็นสำคัญ ประกอบกับคงต้องติดตามนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์ที่อาจเป็นปัจจัยผลักดันเงินเฟ้อให้เร่งสูงขึ้นในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ หลังผลการประชุม FOMC ออกมา ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตอบรับเป็นบวก โดยดัชนี S&P 500 และดัชนีแนสแดคปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาแตะระดับสูงสุดใหม่ ขณะที่ดัชนีดาวโจนส์ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดในวันก่อนหน้า หลังจากพุ่งขึ้นกว่า 1,500 จุดหลังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกมา ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ฯ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อย หลังเฟดส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยนโยบายและไม่กังวลเกี่ยวกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจากนโยบายของรัฐบาลใหม่