วันนี้ 25 มกราคม 2567 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ดร. ฟรังค์–วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (H.E. Dr. Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ร่วมกันแถลงข่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสให้การต้อนรับ ดร. ฟรังค์–วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและภริยา ระหว่างการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในวันนี้ โดยการเยือนครั้งนี้ เป็นการเยือนของประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีครั้งแรกในรอบ 22 ปี (เยือนครั้งล่าสุดเมื่อปี 2545)
ประเทศไทยและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมีความสัมพันธ์ระหว่างกันที่ยาวนานถึง 162 ปี โดยเยอรมนีเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยในสหภาพยุโรปและไทยเป็นคู่ค้า อันดับที่ 3 ของเยอรมนีในอาเซียน ทั้งสองประเทศจึงเป็นพันธมิตรที่เกื้อกูลกันและกันมาตลอด วันนี้ ไทยและเยอรมนีต่างเห็นพ้องต่อการกำหนดเป้าหมายในการยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership)
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ได้หารือกับประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับประเด็นการส่งเสริมความร่วมมือไทย–เยอรมนี ในด้านความยั่งยืน การรับมือกับภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนผ่านพลังงานเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 โดยเยอรมนีพร้อมให้
การสนับสนุนไทยด้านเทคโนโลยีการผลิตพลังงานทดแทนเพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าเป็นร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2040
รวมถึงขยายการลงทุน ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของเยอรมนีในไทยเพื่อให้ไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในระดับภูมิภาค นอกจากนี้ เยอรมนีจะส่งเสริมการทำการเกษตรแบบยั่งยืนที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในไทยอย่างต่อเนื่องและให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อีกประเด็นสำคัญที่ตนได้หารือกับประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี คือ การส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและเยอรมันเดินทางไปมาหาสู่กันได้ง่ายขึ้น ซึ่งประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวชาวเยอรมัน โดยปีที่แล้ว มีนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันเดินทางมาไทยประมาณ 7 แสนคน ทั้งนี้ ชาวเยอรมันได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา 30 วันอยู่แล้ว ผมจึงได้ขอให้ฝ่ายเยอรมนีสนับสนุนไทยให้สามารถบรรลุการเจรจากับสหภาพยุโรปเพื่อขอยกเว้นตรวจลงตราสำหรับการเดินทางเข้าเขตเชงเกนให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาไทยด้วย