นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการความร่วมมือพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ไทย – จีน โดยระบุว่าขณะนี้โครงการระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา เหลือ 2 สัญญาที่ยังไม่สามารถเริ่มงานก่อสร้าง คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ เพื่อผลักดันให้ลงนามสัญญาภายในปีนี้ เนื่องจากเล็งเห็นว่าปัจจุบันการขนส่งทางรางจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ลง ขณะเดียวกันทางประเทศจีน และสปป.ลาว ก็มีการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อเส้นทางมาจากจีนและเปิดให้บริการแล้ว ดังนั้นเหลือแค่เชื่อมต่อรถไฟเข้ามายังประเทศไทยที่จังหวัดหนองคายก็จะทำให้แนวเส้นทางไฮสปีดเทรนสายนี้มีศักยภาพและเชื่อมต่อการเดินทางอย่างสมบูรณ์
ส่วนระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ปัจจุบันได้รับรายงานจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เตรียมเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ในวันที่ 25 ก.ค.นี้ เพื่ออนุมัติขอความเห็นชอบรายละเอียดโครงการและรูปแบบการลงทุน ก่อนเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเบื้องต้นคาดว่า ร.ฟ.ท.จะสามารถเร่งรัดเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาก่อสร้างงานส่วนนี้ได้ภายในปีนี้
สำหรับไฮสปีดเทรนไทย – จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กิโลเมตร รวมมูลค่าการลงทุน 341,351.42 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่างานโยธา 235,129 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน 10,310 ล้านบาท ค่าลงทุนระบบราง-ระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล 80,165 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการ ควบคุมงานและรับรองระบบ 10,060 ล้านบาท
ทั้งนี้ตามแผนดำเนินงาน ร.ฟ.ท.จะเปิดประมูลหาผู้รับจ้างในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Bidding) จำนวน 10 สัญญา แบ่งออกเป็น งานโยธา 9 สัญญา และงานติดตั้งระบบและอาณัติสัญญาณ 1 สัญญา ส่วนรูปแบบโครงสร้างได้ศึกษาเพื่อลดผลกระทบประชาชน โดยจะพัฒนาเป็นทางวิ่งยกระดับ ระยะทาง 202.48 กิโลเมตร และทางวิ่งระดับดิน ระยะทาง 154.64 กิโลเมตร ให้บริการ 5 สถานีใหญ่ ประกอบด้วย 1.สถานีบัวใหญ่ 2.สถานีบ้านไผ่ 3.สถานีขอนแก่น 4.สถานีอุดรธานี และ 5.สถานีหนองคาย
โดยรูปแบบการลงทุนในโครงการไฮสปีดไทย – จีน ขณะนี้มีการศึกษาความเหมาะสมที่จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี) เพื่อเข้ามาลงทุนระบบ จัดหาขบวนรถและบริหารการเดินรถ โดยประเมินวงเงินร่วมทุนอยู่ที่ราว 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะต้องเสนอขอความเห็นชอบจาก ครม. หลังจากนั้นจึงจะนำกลับมาศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนอย่างละเอียด โดยคาดว่าจะใช้เวลาศึกษา 6 เดือน ก่อนส่งมายังกระทรวงคมนาคม คณะกรรมการพีพีพี และเสนอ ครม. พิจารณาปลายปี 2568 ทั้งนี้ หากดำเนินการตามแผนจะสามารถคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2569