ลอเรล กู ผู้อำนวยการ บริษัทวิจัยการตลาดที่มีชื่อว่ามิเทล ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้ประเทศจีน เปิดเผยว่า สาเหตุจากสถานการณ์เศรษฐกิจจีนซบเซาและยังชะลอตัวต่อเนื่องมาหลายปี ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้ชาวโซเชียลมีเดีย ค้นหาคำว่าของเลียนแบบ หรือสินค้าก๊อปเกรด A มีจำนวนการค้นหาเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าในช่วงระหว่างปี 2022 ถึง 2024 นี้
หนึ่งในนั้น คือ นางสาวเจิง เจียเหวิน อายุ 23 ปี ซึ่งเป็นคนที่อยู่ในเจนเนอเรชั่นซี (Z) มีอาชีพเป็นนางแบบบนสื่อสิ่งพิมพ์ และเคยมีเงินเดือนสูงถึง 30,000 หยวนหรือ เดือนละ 4,230 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 143,820 บาทเมื่อ 2 ปีผ่านมา เปิดเผยว่า ดูตัวเองรู้สึกตกใจอย่างมากมากๆเมื่อบริษัทที่เธอทำงานด้วยนั้นได้ประกาศปรับลดเงินเดือนของเธอลงถึง 50% จากเดิม ทำให้ตัวเธอต้องปรับรูปแบบการใช้ชีวิตลดลงเพื่อให้เข้ากับอัตราเงินเดือนใหม่ที่ถูกปรับลดลง เจิง เจียเหวิน ถึงกับกล่าวว่า ต่อจากนี้ไปไม่มีอีกแล้วกับแบรนด์หรูหรา เช่น ชาแนล พราด้า และหลุยส์ วิตตอง ซึ่งก่อนหน้านี้ทั้งสามแบรนด์ถือว่าเป็นแบรนด์หรูหราของตัวเธอโดยเฉพาะ
ทุกวันนี้ คนจีนวัยเจนเนอเรชั่นซี (Z) ต้องใช้จ่ายเงินจากรายได้ที่จำกัดและลดลงอย่างมากโดยเฉพาะเมื่อต้องการซื้อสินค้าของใช้ส่วนตัว จึงให้ความสำคัญกับสินค้าที่เรียกว่า ผิงติ (Pingti) ซึ่งเป็นสินค้าที่ผลิตลอกเลียนแบบแบรนด์สินค้าระดับหรูหราของโลก แต่มีคุณภาพระดับสูงแทบไม่แตกต่างจากสินค้าแบรนด์จริง สินค้าประเภทนี้ในภาษาอังกฤษจะเรียกว่า ดูพส์ (Dupes)
สินค้าดูพส์ หรือของก๊อปเกรด A จะมีราคาขายที่ถูกอย่างมากมายเมื่อเทียบกับแบรนด์สินค้าของแท้ เช่น ชุดโยคะยี่ห้อหรูหราอย่าง ลูลูเลม่อน (Lululemon) ซึ่งเป็นแบรนด์เสื้อผ้าโยคะระดับหรูหราของโลกจากประเทศแคนาดา จะมีราคาขายปลีกที่ 750 หยวนหรือ 106 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 3,605 บาท แต่ในขณะที่ผู้บริโภควัยรุ่นชาวจีนสามารถที่จะเข้าไปค้นหา เลือกดู และซื้อชุดโยคะจากเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซชื่อดังในประเทศจีนไม่เว้นแม้แต่เทมู ซึ่งปรากฏว่าชุดโยคะที่มีรูปแบบลักษณะแทบไม่แตกต่างจากยี่ห้อลูลูเลม่อนขายอยู่ที่ชุดละ 5 ดอลลาร์สหรัฐหรือกว่า 170 บาท ซึ่งถูกกว่าแบรนด์แท้จริงถึง 21 เท่า