ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่าภาพรวมเบี้ยประกันชีวิต 9 เดือนปี 2567 เติบโตชะลอลงมาที่ 2.3%YoY จาก 3.6% ในปี 2566 โดยเป็นผลจากเบี้ยรายใหม่หดตัวลงโดยเฉพาะประเภทจ่ายครั้งเดียว ซึ่งสะท้อนการปรับตัวของธุรกิจประกัน และสอดคล้องกับเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่กระจายการฟื้นตัวและมีผลต่ออำนาจซื้อของคนส่วนใหญ่
โดยแนวโน้มธุรกิจประกันชีวิตปี 2568 เผชิญปัจจัยท้าทายเพิ่มขึ้น จากสัญญาณอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่คาดว่าจะกลับสู่ขาลง และการบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS17 ที่มีผลตั้งแต่ต้นปี 2568 ประกอบกับโครงสร้างสังคมสูงอายุที่เข้มข้น ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอน ซึ่งคงมีผลต่อการขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตรายใหม่ในหลายมิติ อย่างไรก็ดี เบี้ยประกันชีวิตปีต่อไปยังมีแนวโน้มประคองการเติบโตได้ต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าภาพรวมเบี้ยในปี 2568 น่าจะยังเติบโตได้ในกรอบประมาณ 2.8-3.6% ใกล้เคียงกับปี 2566-2567
ภาพรวมเบี้ยประกันชีวิต 9 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัว 2.3%YoY ด้วยอานิสงส์ของเบี้ยปีต่อไปที่ขยายตัวสูง ขณะที่เบี้ยใหม่โตชะลอลงจากปัจจัยทั้งอุปสงค์และอุปทาน ตามการปรับการขายผลิตภัณฑ์ที่เน้นความคุ้มครองมากขึ้นและคุมสัดส่วนการขายเบี้ยประเภทจ่ายครั้งเดียว
สำหรับในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ซึ่งเป็นฤดูกาลขายและเป็นช่วงสุดท้ายของการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีประจำปีนั้น คาดว่าภาพรวมเบี้ยจะขยายตัวในอัตราที่ดีขึ้นแต่ด้วยปัจจัยด้านฐานสูงในปีก่อน ทำให้เบี้ยรวมทั้งปี 2567 คงขยายตัวชะลอลงมาที่ประมาณ 2.6% (กรอบ 2.3-2.9%) เทียบกับที่ขยายตัว 3.6% ในปี 2566
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินภาพรวมเบี้ยประกันชีวิตในปี 2568 น่าจะยังเติบโตได้ในกรอบประมาณ 2.8-3.6% ใกล้เคียงกับปี 2566-2567 โดยคาดว่าเบี้ยรับปีต่อไปจะยังคงเป็นแรงสนับสนุนสำคัญ ร่วมกับการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเบี้ยรับรายใหม่
ปี 2568 ธุรกิจประกันชีวิตต้องรับมือปัจจัยท้าทายเพิ่มเติม โดยเฉพาะจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่ทยอยปรับลดลง ซึ่งมีผลให้รายได้จากการลงทุนลดลงและสร้างความท้าทายให้กับการนำเสนอผลตอบแทนของกรมธรรม์ที่จูงใจเพียงพอสำหรับลูกค้าใหม่ ขณะที่ ปัญหาอำนาจซื้อจะยังกดดันความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ประกันต่อเนื่อง ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะเติบโตชะลอลงเล็กน้อยมาที่ 2.4% จากปี 2567 ที่คาดว่าจะโตประมาณ 2.6%
ทั้งนี้ รูปแบบงบการเงินที่เปลี่ยนไปจากเดิม มีผลกระทบเชิงบัญชีค่อนข้างมากต่อผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสะสมทรัพย์โดยเฉพาะประเภทจ่ายครั้งเดียวแต่มีความคุ้มครองระยะยาว ซึ่งภายใต้ TFRS17 บริษัทจะมีรายได้จากการให้บริการลูกค้าหรือรายได้ค่าธรรมเนียมจากการรับประกันภัยต่ำ (อาจเหลือเพียง 10% ของเบี้ยรับ เทียบกับเดิมที่บันทึกเบี้ยรับทั้งจำนวนเป็นรายได้) ขณะเดียวกัน ยังต้องบันทึกผลขาดทุนที่เกิดจากการรับรองผลตอบแทนตลอดอายุสัญญาทันทีในปีแรก
ปัจจัยท้าทายและการปรับตัวในปี 2568 โดยการปรับตัวและการปรับผลิตภัณฑ์ของบริษัทประกันนั้น มาจากการที่เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่กระจายตัวเท่าที่ควร ส่งผลกระทบกำลังซื้อของลูกค้าวัยแรงงาน (25-70 ปี) โดยเฉพาะในกลุ่มรายได้ปานกลางที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 30,000 บาท และต่ำกว่า 50,000 บาท ซึ่งตามฐานข้อมูลประชากรประจำปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งเป็นฐานลูกค้าขนาดใหญ่กว่า 9 และ 2.6 ล้านคนตามลำดับ
โครงสร้างธุรกิจประกันชีวิตมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านฐานลูกค้ารายหลักซึ่งไม่อาจผูกติดกับลูกค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเกินไป ดังเช่นในอดีตที่อาจผลักดันการเติบโตได้ด้วยการระดมยอดขายประเภทจ่ายครั้งเดียวในกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูง แต่จำเป็นต้องขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มที่มีรายได้รองลงมา ท่ามกลางข้อจำกัดของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่กดดันอำนาจซื้อ อย่างไรก็ดี ธุรกิจประกันยังสามารถต่อยอดการขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ ได้ โดยเฉพาะมิติที่เกี่ยวข้องกับความคุ้มครอง และประกันสุขภาพ โดยที่ยังต้องเน้นการบริหารจัดการต้นทุน ปรับผลิตภัณฑ์ให้เบี้ยเข้าถึงได้มากขึ้น ตลอดจนเพิ่มการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ในการเข้าถึงลูกค้าและสามารถนำไปสู่การตัดสินใจซื้อได้ด้วยขั้นตอนที่ลดลง