เศรษฐกิจไทยปี 68 โตช้านิดนึงกับปี 67 ภาคธุรกิจปั่นป่วน-ไม่ดีขึ้น มี 2 กลุ่มขาลงชัด มี 5 กลุ่มโตแต่ช้าลง เหลือ 2 กลุ่มขาขึ้นสดใส

เศรษฐกิจไทย ปี 68 โตช้านิดนึงกับปี 67 ภาคธุรกิจปั่นป่วน-ไม่ดีขึ้น มี 2 กลุ่มขาลงชัด มี 5 กลุ่มโตแต่ช้าลง เหลือ 2 กลุ่มขาขึ้นสดใส

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่าเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดว่าจะเติบโตช้าลงกว่าปี 2567 เล็กน้อย แรงส่งจากท่องเที่ยวต่อ GDP เริ่มลดลงหลังจำนวนเข้าใกล้ระดับก่อนโควิด โมเมนตัมการเติบโตของการท่องเที่ยวปี 2568 มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปี 2567 ที่คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวรวมไว้ที่ 35.6 ล้านคน มาอยู่ที่ 37.5 ล้านคนในปี 2568 เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน การแข่งขันระหว่างประเทศในการดึงนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการเดินทาง

การบริโภคภาคเอกชนซึ่งเคยเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2565-2567 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง จากกำลังซื้อที่ลดลง หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทิศทางสินเชื่อที่โตช้าลง ในขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะโครงการแจกเงิน 10,000 บาทในเฟสถัดๆ ไปในวงเงินงบประมาณอีกราว 1.8 แสนล้านบาท คาดว่าจะส่งผลบวกต่อการใช้จ่ายของครัวเรือนราว 0.2-0.3% ของ GDP

การใช้จ่ายภาครัฐในปี 2568 ได้แรงหนุนจากฐานที่ต่ำและการเบิกจ่ายต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2568 โดยกรอบงบลงทุนภาครัฐในปี 2568 เพิ่มขึ้น 7.8% และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นราว 2.0% จากปีก่อนหน้า ในขณะที่คาดว่า อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนสำหรับปีงบประมาณ 2568 จะอยู่ที่ 75-80% สูงกว่า 65% ในปี 2567 ด้านการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการหดตัวที่เกิดขึ้นในปี 2567 สอดคล้องกับมูลค่าโครงการลงทุนจากต่างประเทศที่ได้รับการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคาดว่าจะช่วยหนุนเม็ดเงินลงทุนในวัสดุอุปกรณ์ (Equipment) ให้เพิ่มขึ้น

การเพิ่มขึ้นของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศในประเทศไทยส่วนหนึ่งเกิดจากการย้ายการผลิตของจีนหลังจากการเกิดสงครามการค้ารอบแรกโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงมาตรการภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์ ส่งผลต่อการไหลเข้ามาของเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) นอกจากนี้ยังมีการลงทุนในศูนย์ข้อมูล (Data Center) เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของ Data Center ทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม การไหลเข้ามาของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติในไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะในการลงทุนการผลิตรถยนต์ EV ในไทย จากภาวะตลาดโลกที่เผชิญภาวะอุปสงค์ลดลง ท่ามกลางอุปทานสูง ส่งผลต่อการแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้การเข้ามาลงทุนผลิตนถยนต์ EV ในไทยล่าช้าออกไป นอกจากนี้ ความเสี่ยงที่สหรัฐฯ ปรับเพิ่มภาษีนำเข้ากับไทย ในรายการที่สหรัฐฯ มีการขาดดุลการค้ากับไทยสูง หรือในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับห่วงโซ่อุปทานของจีนก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนจริงของนักลงทุนต่างชาติ

ในปี 2568 อุตสาหกรรมไทยจะยังฟื้นตัวต่างกัน โดยแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มที่จะดีขึ้นกว่าปีก่อน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อสุขภาพ (โรงพยาบาลเอกชน อาหารและเครื่องดื่ม) สอดรับไปกับเทรนด์การใส่ใจดูแลสุขภาพของผู้บริโภค และการเป็นสังคมสูงวัยทั้งในไทยและหลายประเทศทั่วโลก โดยประเมินว่า รายได้ของโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2568 จะขยายตัวที่ 7.0% เร่งขึ้นจากที่เราประเมินไว้ที่ 6.3% ในปี 2567

2. กลุ่มที่ยังขยายตัวแต่ในอัตราที่ชะลอลงจากปีก่อน ได้แก่ โรงแรมและร้านอาหาร ค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค ขนส่งและคลังสินค้า เนื่องจากแรงส่งการฟื้นตัวหลังโควิดของการท่องเที่ยวจะเริ่มแผ่วลง ประกอบกับมีความท้าทายจากกำลังซื้อทั้งในและต่างประเทศท่ามกลางสถานการณ์แวดล้อมที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน อีกทั้งในฝั่งผู้ประกอบการก็เผชิญการแข่งขันที่สูงในการดึงดูดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีศักยภาพซึ่งอาจไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก โดยคาดว่า รายได้การท่องเที่ยวจากทั้งชาวต่างชาติและคนไทยเที่ยวในประเทศปี 2568 จะยังต่ำกว่าระดับก่อนโควิดในปี 2562 ที่ 3 ล้านล้านบาท มูลค่าค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคปี 2568 จะขยายตัว 3.0% ชะลอลงจากปี 2567 ที่เติบโต 4% รวมทั้ง อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยังเผชิญโจทย์ความสามารถในการแข่งขัน โดยคาดมูลค่าการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าปี 2568 จะเติบโต 1.6% ชะลอลงจากปี 2567 ที่ขยายตัวเกือบ 10%

3. กลุ่มที่หดตัวจากปีก่อน ได้แก่ สินค้าคงทนทั้งอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย และรถยนต์ จากแรงฉุดกำลังซื้อที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่หากเทียบกับอุปทานในตลาดที่มีอยู่มาก โดยประเมินว่า ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศปี 2568 จะหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 หรืออยู่ที่ราว 336,000 หน่วย เทียบกับ 340,000 หน่วยในปี 2567 และยอดขายรถยนต์ในประเทศจะหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 หรืออยู่ที่ราว 530,000 คัน เทียบกับราว 570,000 คันในปี 2567

    ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
    Latest Posts

    Related Articles