คุณชินตา ศรีจินตอังกูร Thailand Site Leader บริษัท นีลเส็นไอคิว(ประเทศไทย) เปิดเผยรายงานผลสำรวจมีชื่อว่า Consumers Revolution: Understanding Shoppers Today and Tomorrow 2024 โดยเฉพาะข้อมูลสำหรับผู้บริโภคในประเทศไทยมีความน่าสนใจหลักๆ ได้แก่ ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มีต่อผู้บริโภคในประเทศไทยด้านการเงินนั้น พบว่า สัดส่วนของผู้ตอบในการสำรวจเกี่ยวกับฐานะการเงินครัวเรือนที่แย่ลงนั้น มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในการสำรวจทั้ง 3 ครั้งติดต่อกันผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นจากมกราคม 2023 ที่ระดับ 39% มาเป็นระดับ 45% ในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน และในเดือนมกราคม 2024 ซึ่งเป็นการสำรวจล่าสุดนั้น เพิ่มขึ้นเป็น 48% นั่นหมายถึง การเงินในครัวเรือนของคนไทยแย่ลงต่อเนื่องในช่วง 1 ปีผ่านมา
ผลสำรวจยังพบว่า ผู้บริโภคในประเทศไทยให้ความสำคัญกับร้านค้าปลีกประเภทร้านโชว์ห่วยมากกว่าร้านสะดวกซื้อและทิ้งห่างจากการซื้อทางออนไลน์ สะท้อนจากการซื้อสินค้าประเภทสินค้าอุปโภคบริโภคที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว หรือ FMCG พบว่า มี 40% เป็นร้านโชว์ห่วย รองลงมา คือ 35% เป็นร้านสะดวกซื้อ ตามด้วยห้างไฮเปอร์มาร์เก็ต ที่น่าสนใจ คือ สัดส่วนที่เป็นร้านออนไลน์มีแค่ 3% เท่านั้น สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคในภาพรวมในไทย นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า การจัดโปรโมชั่นหน้าร้านขายสินค้ามีผลต่อการตัดสินใจซื้อไม่น้อย
ด้านความกังวลของผู้บริโภคในประเทศไทย พบว่า ทั้งค่าใช้จ่ายอาหารและค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน และมีสัดส่วนรวมกันมากที่สุดเมื่อเทียบจากความกังวลอื่นๆ ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยสูง ภาวะโลกร้อน ด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคในไทย พบว่า มีการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และฟุ่มเฟือย มีการลดปริมาณการซื้อ และซื้อเฉพาะสิ่งที่จำเป็น หรือซื้อเก็บสต็อกของใช้ที่จำเป็นเพิ่มเติม รวมถึงการซื้อในช่วงลดราคา
ในแง่ความจงรักภักดี หรือความซื่อสัตย์ของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้า พบว่า 89% จะลองสินค้าและบริการใหม่ๆ ซึ่งตรงข้ามกับมี 19% ที่ใช้สินค้าเดิม นั่นหมายถึง ความซื่อสัตย์ หรือ Loyalty ต่อสินค้ากลับลดน้อยลงอย่างชัดเจนมาก ที่สำคัญ การลดแลกแจกแถมของสินค้าใดๆก็ตาม หรือการเปิดตัวสินค้า หรือรุ่นใหม่ๆ ล้วนเป็นปัจจัยให้ผู้บริโภคในประเทศไทยหันไปซื้อทันที ซึ่งไม่ยึดติดกับสินค้าที่ใช้อยู่