The 1 Insight ซึ่งเป็นหนึ่งในบริการของบัตรเครดิตในกลุ่มศูนย์การค้าเซ็นทรัล เปิดเผยว่า เผยแนวโน้มเศรษฐกิจกลุ่มคนโสด หรือ Solo Economy ในไทย กำลังกลายเป็นกระแสสำคัญ คนโสดเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีอิทธิพลสูง ทั้งในด้านกำลังซื้อและอัตราการเติบโตด้านการใช้จ่าย นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงพฤติกรรมที่มีแนวคิด Self Splurge หรือใช้จ่ายหนักเพราะรักตัวเอง จะเห็นเด่นชัดมาในหมวดสินค้าพรีเมียม การดูแลสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ และประสบการณ์ส่วนบุคคล
อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2566 พบว่า คนไทยมีถึง 25% อยู่ในสถานะโสด โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตเมือง และ กรุงเทพฯ มีสัดส่วนคนโสดสูงถึง 50% ของประชากรในพื้นที่ ซึ่งถือว่าสูงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ในประเทศไทย
ในแง่ประชากรภาพรวม ปรากฎว่ามี 75% ของคนโสดในไทยเป็นเพศหญิงสัดส่วนของคนโสดมีสูงมากในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มเจนวาย(Y)เริ่มต้นในช่วงอายุ 25–34 ปี (30%) กลุ่มเจนวาย(Y) ช่วงกลางมีอายุ 35–44 ปี (25%) และเริ่มลดลงในกลุ่มคนเจนเอ็กซ์ในช่วง 45–54 ปี (20%) นั่นหมายถึงยิ่งอายุน้อยลงมีสัดส่วนคนโสดยิ่งสูงขึ้น ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของค่านิยมใหม่ในการใช้ชีวิต ที่เปลี่ยนไปจากกรอบครอบครัวแบบเดิม
กลุ่มคนโสดในปัจจุบันมีมากกว่า 2 ใน 3 ของการใช้จ่ายรวม และเติบโตอย่างต่อเนื่อง พฤติกรรมที่เด่นชัดคือ การลงทุนกับตัวเองผ่านสินค้า และบริการ ที่สะท้อนภาพลักษณ์ เสริมสุขภาพ ทานอาหารนอกบ้าน และเลือกซื้อสินค้าหรูหรา อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับประสบการณ์ เช่น การเข้าร่วมเวิร์กช็อป คลาสเสริมทักษะ การท่องเที่ยว และกิจกรรมยามว่าง ซึ่งล้วนเป็นการใช้จ่ายเพื่อเติมเต็มคุณภาพชีวิต
หมวดสินค้าตกแต่งในบ้าน หรือ Home Decoration พบว่าคนโสดมีใช้จ่ายมากกว่าคนมีครอบครัวถึง 4.5 เท่า เนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการที่อยู่อาศัยต้องรับผิดชอบคนเดียว ต่างจากครอบครัวที่สามารถแบ่งภาระกันได้ และคนโสดยังมีอิสระในการเลือกของตกแต่งที่ตรงกับรสนิยมโดยไม่ต้องประนีประนอม ทำให้กล้าลงทุนกับดีไซน์เฉพาะตัวและสินค้าคุณภาพสูงที่สะท้อนความเป็นตัวเอง
พฤติกรรมเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มคนโสด โดยเฉพาะในเขตเมือง กำลังกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจยุคใหม่ ด้วยแนวคิดการใช้จ่ายที่มีจุดยืน ชัดเจน และขับเคลื่อนจากความต้องการดูแลตนเองอย่างรอบด้าน
สำหรับคนโสดในเมืองกับคนโสดต่างจังหวัด เมื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมด้านการบริโภคพบความแตกต่างในลำดับความสำคัญของหมวดสินค้าที่ซื้อหา ปรากฎว่า คนโสดในเมืองมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสูงกว่าราว 1.2 เท่า และเน้นหมวดความงาม และสินค้าไลฟ์สไตล์พรีเมี่ยม ขณะที่กลุ่มคนโสดตามต่างจังหวัดให้ความสำคัญกับหมวดสินค้าตกแต่งและเครื่องใช้ในบ้าน เช่น อุปกรณ์ก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ในครัวเรือน ซึ่งสะท้อนรูปแบบการใช้ชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน