แนวโน้มธุรกิจศัลยกรรมและเสริมความงามของไทยปีนี้ คาดโตได้ 2.8% แตะ 76,500 ล้าน ลูกค้ากระเป๋าหนัก ต่างชาติ ผู้ชายเพิ่ม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่าแนวโน้มปี 2568 มูลค่าตลาดธุรกิจศัลยกรรมและเสริมความงามของไทยคาดว่าจะอยู่ที่ 76,500 ล้านบาท โต 2.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากจำนวนการใช้บริการ รวมถึงอัตราค่ารักษาและบริการที่เพิ่มขึ้น โดยการทำศัลยกรรมในไทยกว่า 79% เป็นแบบผ่าตัดและเทรนด์ศัลยกรรมและเสริมความงามส่วนใหญ่ยังนิยมทำที่ช่วงบริเวณใบหน้ามากที่สุด ขณะที่ฐานผู้ใช้บริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีกลุ่มลูกค้าศักยภาพใหม่ ได้แก่ กลุ่มเพศทางเลือก (LGBTQIA+) กลุ่ม GenZ และผู้ชาย

โอกาสของธุรกิจศัลยกรรมและเสริมความงามของไทย ยังได้รับแรงหนุนจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและการเพิ่มขึ้นของลูกค้า Medical Tourism ในไทย แต่การแข่งขันจะรุนแรงต่อเนื่อง ทั้งจากคู่แข่งในประเทศและความนิยมออกไปทำศัลยกรรมในต่างประเทศ

โดยปี 2568 มูลค่าตลาดธุรกิจศัลยกรรมและเสริมความงามของไทย คาดว่าจะอยู่ที่ 76,500 ล้านบาท โต 2.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากจำนวนการใช้บริการ รวมถึงอัตราค่ารักษาและบริการที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ด้วยภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อและการแข่งขันในตลาดที่รุนแรง ส่งผลให้อัตราการเติบโตในปีนี้ใกล้เคียงกับปีก่อน ไม่ได้เร่งตัวเช่นในอดีต

หากมองผลตอบแทนจากกำไรสุทธิต่อรายได้รวม (Net Profit Margin: NPM) ของธุรกิจ จะพบว่า ค่าเฉลี่ยในช่วงหลังโควิด-19 (ปี 2564-2566) อยู่ที่ 2.3% ลดลงจากช่วงก่อนโควิด-19 (ปี 2560-2562) ที่ 2.7% สะท้อนว่า แม้มูลค่าตลาดจะยังโต แต่ก็ต้องเผชิญการแข่งขันรุนแรง จากจำนวนผู้เล่นมากราย โดยเฉพาะกับรายใหญ่ที่มีแบรนด์แข็งแกร่ง ความพร้อมด้านการลงทุนเทคโนโลยีใหม่ๆ และบุคลากรทางการแพทย์

ปัจจุบันมูลค่าตลาดธุรกิจศัลยกรรมและเสริมความงามกว่า 85% จะมาจากกลุ่มคลินิก แต่มีแนวโน้มลดลงจากการแข่งขันที่รุนแรง โดยปี 2568 คาดว่า สัดส่วนมูลค่าตลาดของกลุ่มคลินิกจะอยู่ที่ 85% ลดลงจากปี 2564 ที่ 90% โดยเป็นผลมาจากการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง ขณะที่กลุ่มโรงพยาบาลจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 15% จากจำนวนลูกค้าชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น รวมถึงจุดแข็งด้านมาตรฐานการรักษาและความมีชื่อเสียงของศัลยแพทย์

การทำศัลยกรรมและเสริมความงามในไทยส่วนใหญ่เป็นแบบผ่าตัด คิดเป็นสัดส่วน 79% ของจำนวนการใช้บริการ ส่วนอีก 21% เป็นแบบไม่ผ่าตัด

ปัจจุบันคนรุ่นใหม่เปิดกว้างและกล้าทำศัลยกรรมมากขึ้น สะท้อนจาก ปี 2566 สัดส่วนการทำศัลยกรรมแบบผ่าตัดอยู่ที่ 79% เพิ่มขึ้นจาก 75% ในปี 2562 ส่วนหนึ่งมาจากเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย มีความปลอดภัยและใช้เวลาฟื้นตัวน้อยลง

ทั้งนี้ การทำศัลยกรรมและเสริมความงามแบบผ่าตัดในไทย ส่วนใหญ่นิยมทำตา จมูกและหน้าอก ขณะที่แบบไม่ผ่าตัด จะนิยมฉีดโบทูลินัมท็อกซิน (โบท๊อก) ไฮยาลูรอนและยกกระชับใบหน้าและลำคอ

เทรนด์ศัลยกรรมและเสริมความงามที่ลูกค้าสนใจทำมากที่สุดอยู่ที่บริเวณช่วงใบหน้า คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 47% ของจำนวนการใช้บริการทั้งหมด โดยมีกลุ่มลูกค้าศักยภาพใหม่ อาทิ กลุ่มเพศทางเลือก (LGBTQIA+) กลุ่ม GenZ และผู้ชาย ซึ่งจะเป็นฐานผู้ใช้บริการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

โอกาสของธุรกิจศัลยกรรมและเสริมความงามในระยะข้างหน้า
•การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หนุนความต้องการศัลยกรรมและเสริมความงามที่ช่วยชะลอวัย ภายในปี 2571 ไทยจะมีจำนวนผู้สูงอายุราว 14 ล้านคน โดย 22% ของประชากรกลุ่มนี้เป็นผู้ที่มีรายได้สูง อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล สะท้อนว่า น่าจะเป็นลูกค้าศักยภาพและมีความเต็มใจจ่ายสูงให้กับเทคโนโลยีการรักษาที่ช่วยชะลอวัย อาทิ ศัลยกรรมดึงหน้า ทำหน้าอก ดูดไขมัน ลดริ้วรอย เป็นต้น
•ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพหนุนการเติบโตของจำนวนลูกค้าต่างชาติ สอดคล้องกับจำนวนลูกค้า Medical Tourism ของไทย ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 5% ทั้งนี้ ศัลยกรรมความงามอยู่ในกลุ่มบริการทางการแพทย์ที่ชาวต่างชาตินิยมเข้ามาใช้บริการในไทยมากเป็นอันดับ 2 โดยมีลูกค้าหลัก คือ จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น ขณะที่ลูกค้าอาเซียนจะเป็นลูกค้าใหม่ที่จะเข้ามารับบริการเพิ่ม สอดรับไปรับแผนการตลาดของผู้ประกอบการที่จะเจาะตลาดลูกค้า CLMV+I ให้ได้มากขึ้น

ความเสี่ยงของธุรกิจศัลยกรรมและเสริมความงามของไทย
•บุคลากรทางการแพทย์มีจำกัดโดยเฉพาะศัลยแพทย์ตกแต่ง ซึ่งในไทยมีเพียง 500 ราย เมื่อเทียบกับคู่แข่งสำคัญอย่าง เกาหลีใต้ ซึ่งมีอยู่ 2,739 ราย ทำให้อัตราการแข่งขันเพื่อแย่งบุคลากรทางการแพทย์สูง และส่งผลทำให้ต้นทุนธุรกิจสูงขึ้น เช่น ในกรณีของศัลยแพทย์ตกแต่งใบหน้าในไทยที่มีเพียง 100 คน
•ธุรกิจแข่งขันรุนแรง ท่ามกลางปัจจัยเฉพาะหน้าด้านภาวะเศรษฐกิจ กดดันต่อการทำรายได้และขยายฐานลูกค้า ทั้งคู่แข่งในประเทศกว่า 2,500 ราย ซึ่งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคลินิกขนาดเล็ก และคู่แข่งต่างชาติ ที่เข้ามาลงทุนเปิดสาขาให้บริการทำศัลยกรรมในไทยหรือส่งตัวลูกค้าไปรับบริการในต่างประเทศ ซึ่งยังคงได้รับความนิยมจากคนไทย โดยเฉพาะการไปรับบริการในเกาหลีใต้
•ธุรกิจต้องลงทุนในเทคโนโลยีหรือเครื่องมือในการรักษาใหม่ๆ ตามเทรนด์ความงามที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แม้ส่วนหนึ่งจะจูงใจให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ แต่หากลูกค้ามาใช้บริการน้อยหรือไม่สม่ำเสมอ อาจกระทบต่อการบริหารจัดการต้นทุนและกำไรของธุรกิจได้ โดยเฉพาะธุรกิจที่จับลูกค้ากลุ่มรายได้ปานกลางลงมา ซึ่งมักจะเปรียบเทียบความคุ้มค่าด้านราคา

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles